สอน ใช้เครื่องปั๊มนม ครั้งแรก พร้อมเทคนิคปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า

ใช้เครื่องปั๊มนม

ใช้เครื่องปั๊มนม ดียังไงนะ? คุณแม่รู้ไหมว่า การปั๊มนมมีส่วนช่วยคุณแม่และลูกน้อยได้มากมายกว่าที่คิด

  • การปั๊มนม เป็นการเก็บสำรองน้ำนมแม่ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับคุณค่านมแม่ได้เต็มที่และต่อเนื่องเสมอ แม้คุณแม่จะไม่อยู่กับลูก ต้องไปทำงาน ไปธุระหรืออื่นๆ  ช่วยให้คุณแม่สะดวก ประหยัดเวลา ลูกน้อยได้สารอาหารจากนมแม่เหมือนเดิม
  • การปั๊มนมช่วยเพิ่มปริมาณนมแม่ได้ ทำให้คุณแม่หมดกังวลเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอให้ลูก กลัวลูกกินไม่อิ่ม เพราะน้ำนมแม่ที่ปั๊มและแช่เก็บไว้ แค่นำมาละลายก็สามารถให้ลูกกินได้ทันที
  • ช่วยกักเก็บน้ำนมไว้ในกรณีฉุกเฉิน  เมื่อคุณแม่เจ็บป่วยไม่สบายจำเป็นต้องใช้ยา ที่มีผลส่งผ่านจากน้ำนมแม่ไปสู่ลูกน้อย
  • การปั๊มนม มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดจากการคัดเต้านม  และยังช่วยระบายน้ำนมออก เพื่อสร้างน้ำนมใหม่ต่อเนื่อง

แต่เชื่อว่าสำหรับคุณแม่มือใหม่ การปั๊มนมครั้งแรกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย อาจมีความกังวลใจต่างๆ นาๆ  ว่าจะเริ่มยังไง ต้องทำอะไรบ้าง  เราจึงอยากจะมาแนะนำวิธีการปั๊มนมครั้งแรก พร้อมกับเทคนิคการปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อให้คุณแม่ได้ ใช้เครื่องปั๊มนมได้เก่ง คุ้มค่าอย่างมืออาชีพ ลูกน้อยก็มีน้ำนมแม่กินอิ่มอยู่เสมอค่ะ

ใช้เครื่องปั๊มนม

สอนคุณแม่ ใช้เครื่องปั๊มนม

  • เริ่มต้นเรียนรู้ ศึกษาข้อมูล วิธีการใช้ โดยการอ่านข้อมูลคำแนะนำ การประกอบอุปกรณ์ต่างๆ และวิธีการใช้อย่างละเอียด และทำความคุ้มเคยกับเครื่องปั๊มน
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้ปลอดภัย ปราศจากเชื้อโรค  ก่อนนำมาทดลองใช้ ด้วยการล้างด้วยน้ำยาล้างขวดนมจุกนมที่อ่อนโยนปลอดภัย และนำไปฆ่าเชื้อ  คุณแม่จะใช้เครื่องนึ่งขวดนม หรือเครื่องอบฆ่าเชื้อ เพื่อฆ่าเชื้อกรวยปั๊มนม ขวดนมที่ปั๊ม ก็ได้ เสร็จแล้วจึงนำมาทดลองใช้กับเต้านม เพราะหากไม่ทำความสะอาดก่อน อาจมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนติดตัวคุณแม่ได้   
  • ทดลองใช้ให้คุ้นเคย  ด้วยการลองครอบกรวยปั๊มกับเต้านม ลองปรับรอบของการดูดหรือแรงปั๊มนม ว่าแรงไปหรือไม่ เจ็บหรือเปล่า  อาจลองค่อย ๆ ปรับไป  ซึ่งหากคุณแม่ลองใช้เครื่องปั๊มหลังคลอดใหม่ ครั้งแรก ๆ อาจจะไม่ได้น้ำนม รู้สึกว่าแรงปั๊มไม่มี ควรค่อย ๆ หาสาเหตุ แล้วแก้ไข ลองปรับวาล์วว่าแน่นดีหรือไม่ และใส่ทุกอย่างให้ถูกต้อง
  • เริ่มปั๊มนมหลังคลอด  เนื่องจากในช่วง 3-4 วันแรกลูกน้อยยังนอนหลับมาก จึงมักไม่ตื่นขึ้นมาดูดนมแม่บ่อยๆ ทำให้คุณแม่ต้องปลุกลูกน้อยมาดูดกระตุ้นเต้านมทุก 2-3 ชม.  ดังนั้นคุณแม่จึงอาจลองเริ่มปั๊มนมได้ในช่วงที่ลูกหลับนี้   เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมให้มาเร็วขึ้นและมากขึ้น

แม้คุณแม่จะลองปั๊มนมแล้ว น้ำนมจะยังไม่มี ก็ไม่ควรเครียด หรือตกใจ คิดว่าตัวเองไม่มีน้ำนม เพราะการปั๊มนมช่วงนี้เป็นการปั๊มนมเพื่อกระตุ้น และฝึก ใช้เครื่องปั๊มนมให้คุ้นเคย เมื่อคุณแม่ได้ใช้เครื่องปั๊มนมร่วมกับให้ลูกดูดกระตุ้นบ่อยๆ น้ำนมแม่จะมาเร็วขึ้น

ใช้เครื่องปั๊มนม

เมื่อ ใช้เครื่องปั๊มนม

  1. ให้คุณแม่ล้างมือ ล้างอุปกรณ์ปั๊มนม และขวดนมให้สะอาดแล้วฆ่าเชื้อ
  2. จับกรวยครอบเต้านมสำหรับปั๊มนม วางลงบนหัวนมโดยให้กรวยอยู่บริเวณตรงกลางหัวนม
  3. ใช้มือข้างหนึ่งประคองเต้านม ให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือประคองอยู่ด้านใต้เต้านม ประคองเต้านมกับกรวยให้ครอบกันพอดี ระวังอย่าดันหัวนมกับกรวยเต้านมแรงเกินไป เพราะคุณแม่อาจเจ็บหรือมีรอยแผลที่เต้านม
  4. ปรับความเร็วและอัตราการปั๊มนมตามคู่มือการใช้เครื่อง โดยเริ่มต้นจากอัตราการปั๊มที่ต่ำและเร็วก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้แรงดูดมากทำคุณแม่เจ็บเต้านม
  5. เมื่อน้ำนมคุณแม่เริ่มไหลคงที่ อาจใช้เวลาประมาณ 1-3 นาที จากนั้นจึงค่อยๆปรับความเร็วให้ช้าลงและเพิ่มอัตราการปั๊มให้สูงขึ้นได้ ในช่วงแรก แนะนำคุณแม่ไม่ปั๊มนมนานหรือแรงเกินไป เพราะอาจทำให้หัวนมแตกได้ อาจเริ่มต้นปั๊มนมครั้งละประมาณ 3-5 นาทีก่อน  เมื่อเริ่มปรับตัวได้จึงเพิ่มเวลาในการปั๊มนมขึ้น ประมาณข้างละ 15-20 นาที
  6. หลังจากปั๊มนมเสร็จ ให้คุณแม่ค่อย ๆ นำกรวยเครื่องปั๊มออกจากเต้านม จากนั้นนำน้ำนมที่ได้ เขียนวันเวลาแล้วไปแช่เย็นเก็บทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนมแม่ไว้ให้นานที่สุด
  7. หลังเก็บน้ำนมแล้ว ให้ทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมตามคู่มือการใช้งาน และเก็บให้มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรก
  8. ปกติแล้วการใช้เครื่องปั๊มนมจะไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บขณะปั๊ม แต่หากคุณแม่มีอาการเจ็บแสดงว่าใช้กรวยปั๊มนมผิดขนาด หรือปรับอัตราแรงปั๊มนมสูงเกินไป จึงควรตั้งค่าและปรับการปั๊มให้คุณแม่รู้สึกสบายที่สุดและได้น้ำนมมากที่สุด
  9. หากคุณแม่ใช้เครื่องปั๊มนมแล้วเจ็บทุกครั้ง แม้จะลองปรับเปลี่ยนต่างๆ แล้ว ลองปรึกษาผู้ผลิตเครื่องปั๊มนม หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ เพื่อช่วยหาสาเหตุและการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง
ใช้เครื่องปั๊มนม

ปั๊มนมแบบไหน? ให้เกลี้ยงเต้า 

การปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า คือการระบายน้ำนมให้หมดจากเต้านมคุณแม่ในครั้งนั้นๆ เพื่อให้เต้านมคุณแม่ได้มีพื้นที่สำหรับการผลิตน้ำนมขึ้นใหม่อยู่เสมอ เพราะน้ำนมแม่จะมีรอบของการผลิตใหม่ๆ ในเต้านมตลอดเวลา เมื่อน้ำนมผลิตจนเต็มเต้า เต็มพื้นที่เก็บน้ำนม จะทำให้เต้านมคุณแม่คัดตึง ต้องให้ลูกน้อยดูดหรือปั๊มนมระบายออกมา  ซึ่งการปั๊มนมออกมานั้น ยิ่งระบายน้ำนมออกได้เกลี้ยงเต้ามากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยให้นมแม่ผลิตออกมาสม่ำเสมอได้มากขึ้นเท่านั้นค่ะ

เทคนิคปั๊มเกลี้ยงเต้า

  • ปั๊มนมแม่โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีต่อข้าง ในการปั๊มนมแต่ละครั้ง ซึ่งเท่าๆ กับระยะเวลาที่ลูกดูดนมแม่จนเกลี้ยงเต้านั่นเอง หากปั๊มถึง 15 นาทีแล้วยังมีน้ำนมไหลออกมาอยู่ ยังสามารถปั๊มต่อได้อีกประมาณ 2-5 นาที เพื่อให้เกลี้ยงเต้า แต่ไม่ควรนานเกินไปเพราะคุณแม่จะเจ็บเต้านมได้
  • ควรปั๊มนมแม่ให้หมดจากเต้าทีละข้าง เป็นข้างๆ ไป
  • ปั๊มนมไปพร้อมกับให้ลูกดูดนมจากเต้าอีกข้าง หรือปั๊มนมพร้อมกันสองข้างในครั้งเดียว ก็จะช่วยให้ระบายน้ำนมแม่ออกได้ดี และเร่งการผลิตน้ำนมให้มีมากยิ่งขึ้น
  • ปั๊มนมแม่ทุกๆ 3-4 ชั่วโมง ไม่ปล่อยให้รู้สึกคัดเต้าหรือเจ็บเต้านม โดยกำหนดเวลาปั๊มนมที่แน่นอน ตรงเวลาทุกๆ วัน จะเป็นการช่วยกระตุ้นการสร้างนมแม่ ให้น้ำนมไหลดีอย่างต่อเนื่อง

คุณแม่จะรู้ได้ว้าน้ำนมที่ปั๊มนั้นเกลี้ยงเต้าแล้ว เมื่อรู้สึกได้ว่าเต้านมอ่อนนุ่มนิ่มลง อาการคัดตึงเต้านมก่อนที่จะปั๊มนม (เพราะมีน้ำนมอยู่เต็มเต้านม) ก็จะหายไปด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code