การกินแบบ BLW คือ อะไร?

BLW คือ อะไร

BLW คือ อะไร? ทำไมคุณแม่ๆ หลายคนจึงพูดถึง ยิ่งแม่ที่มีลูกเล็กมักจะสอบถามเพื่อน คนใกล้ตัว รวมถึงหาข้อมูลเรื่องนี้กันยกใหญ่ นั่นเป็นเพราะ BLW คือ วิธีการกินอาหารของลูกน้อยรูปแบบหนึ่ง ที่หลายบ้านให้ความสนใจ เพราะสามารถเริ่มได้ในช่วงวัยที่ลูกกินอาหารเสริม แถมยังข้อดีที่น่าสนใจด้วย

ซึ่งสำหรับคุณแม่มือใหม่หรือคุณแม่หลังคลอดอาจไม่เคยได้ยินการกินแบบ BLW มากนัก แต่คุณแม่ที่กำลังให้นมลูกน้อย คุณแม่ที่มีลูกน้อยเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยของการให้อาหารเสริม คือประมาณ 6 เดือน จะเริ่มสนใจและศึกษาเรื่องนี้กันมาก เพราะการให้ลูกกินแบบ  BLW ถือเป็นการฝึกลูกช่วยเหลือตัวเองเรื่องการกินตั้งแต่มื้อแรก โดยพ่อแม่ไม่ต้องป้อน ปั่นอาหาร เพราะทุกอย่างลูกต้องทำเอง!!

BLW คือ อะไร

BLW คือ อะไร?  ช่วยลูกได้อย่างไรบ้าง ?

Baby Led Weaning หรือ BLW คือการฝึกให้ลูกจัดการทานอาหารของตัวเอง ด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มมื้อแรก  โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเตรียมอาหารปั่น อาหารบดให้ลูกน้อยทารก รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องใช้ช้อนป้อนอาหารให้ลูก แต่เป็นการให้ลูกน้อยจัดการหยิบจับอาหารนิ่มๆ เป็นชิ้นๆ และกินด้วยตัวเอง คือ ให้ลูกน้อยกินอาหารที่ไม่ปรุงหรือปรุงน้อยๆ เน้นให้ลูกจับอาหารไว้ในมือได้ถนัด แล้วก็ให้ลูกหยิบจับกิน นั่งกินเองพร้อมๆกับพ่อแม่ เลือกหยิบกินตามปริมาณที่ต้องการมากน้อย ด้วยตัวของลูกเอง

ทำไมต้องมีวิธี BLW

ปกติแล้วเมื่อลูกน้อยถึงวัยเริ่มให้อาหารเสริม ในช่วงวัย 6 เดือน การให้อาหารเสริมมื้อแรกที่คุณพ่อคุณแม่ได้รับข้อมูลกันมาอย่างคุ้นเคยและยาวนาน คือการป้อนอาหารบดละเอียดให้ลูกน้อยก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความหยาบของอาหารขึ้นทีละน้อยตามวัยของลูก ที่เรียกว่า Traditional Weaning (TW) แต่เนื่องจากพบว่า การให้อาหารบด นานเกินไป ทำให้ลูกเคี้ยวเองไม่เป็น ลูกไม่ยอมเคี้ยว  ลูกเลือกกินอาหาร ทำให้ลูกกินยาก ไม่ยอมกินอาหารจากช้อน รวมถึงปัญหาการที่พ่อแม่ต้องเดินป้อน ลูกติดการป้อนอาหารจนไม่ยอมฝึกการกินอาหารเองเมื่อโตขึ้น  และอื่นๆ

นอกจากนี้วิธีการกินแบบ TW คุณพ่อคุณแม่คือคนป้อนหลัก ซึ่งหากลูกกินง่ายก็จะไม่ยากเท่าไร แต่หากลูกกินยาก ปิดปาก ห่วงเล่น หันหนี หรือคายออกมา ก็จะทำให้การกินของลูกนั้นยากและลำบากคนป้อน ทำให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยใจเพิ่มมากขึ้น และเมื่อลูกเลือกกินก็จะส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาการช้าตามมาอีกได้

วิธีการกิน BLW เป็นยังไง?

วิธีการกินแบบ BLW (Baby Led Weaning) คือการให้ลูกน้อยหัดนั่งกินอาหารด้วยตัวเอง  เริ่มจากการเตรียมอาหารที่เป็นชิ้นๆ นิ่มๆ ใส่จานไว้ให้ลูกน้อย  ล้างมือให้ลูก  จัดที่นั่งเฉพาะที่ให้ลูกกินอาหารพร้อมๆ กับพ่อแม่ หรือใช้เป็นเก้าอี้ทานข้าวสำหรับเด็ก  ใส่ผ้ากันเปื้อนให้ลูกน้อย และอาจมีผ้าพลาสติกหรือยางปูโต๊ะและพื้น กันอาหารตกพื้นจนสกปรกทำความสะอาดยาก

อาหารที่ให้ลูกกินแบบ BLW จะเป็นอาหารที่หั่นเป็นชิ้นๆ นิ่มๆ หรือ Finger food ให้ลูกจับถนัดมือ อาหารที่ต้มจนอ่อนนิ่ม อาหารชิ้นเล็กที่กินแล้วปลอดภัยไม่ติดคอ หรือเป็นเมนูอาหารที่เหมือนผู้ใหญ่ แต่ไม่ปรุงรส หรือปรุงรสน้อยๆ ได้  ไม่ต้องปั่นอาหารหรือข้าวให้ละเอียด ไม่ต้องบดอาหาร หรือปั้นอาหารให้ลูก  อาทิ ผลไม้เนื้อนิ่ม ผักนึ่ง ไข่แดงต้มสุก เช่นตัวอย่างเมนูอาหารเหล่านี้ ข้าวสวยนิ่มกับไข่ตุ๋น,  ข้าวสวย+ไข่เจียวหั่น+ผักลวก,ข้าวสวยกับฟักทองผัดไข่,ข้าวผัดไข่กับแครอต,ข้าวไข่ต้มกับมะเขือเทศสดหั่นและมะละกอหั่น,มักกะโรนีผัดซอสมะเขือเทศกับบร็อกโคลีต้มหั่นชิ้นเล็ก ฯลฯ

BLW ช่วยให้ลูกสนใจ และฝึกกินได้ด้วยตัวเอง

ด้วยปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นเวลาป้อนอาหารให้ลูกน้อย ทำให้มีแนวคิดการใช้  BLW เพื่อให้ลูกน้อยมีอิสระในการทานอาหารด้วยตัวเอง  และมีข้อดีต่อทั้งตัวลูกน้อยเองและคุณพ่อคุณแม่หลายอย่าง ได้แก่

  1. ฝึกพัฒนาการและประสาทสัมผัส เพราะลูกน้อยได้หยิบจับสัมผัสอาหารด้วยตัวเอง  ช่วยให้ลูกได้เรียนรู้รสชาติที่แตกต่าง ได้พัฒนาการเคี้ยว และประสาทสัมผัสทั้งด้านการใช้กล้ามเนื้อประสานกับสายตา เพราะต้องใช้นิ้วมือหยิบอาหารตรงหน้าด้วยตัวเอง ช่วยพัฒนาการรับรู้รสและกลิ่น สมองก็จะได้จดจำรสชาติและหน้าตาของอาหาร ถือว่าเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยได้หลายด้านทีเดียว
  2. ฝึกการช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่เด็ก  เพราะการฝึกให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเอง ถือเป็นบันไดขั้นแรกของการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง  เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกหัดเรื่องอื่นๆ ต่อไปในชีวิตลูกน้อยเมื่อโตขึ้น   
  3. ฝึกวินัยในการกิน  เนื่องจากลูกน้อยจะได้กินอาหารเป็นเวลาร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ได้เรียนรู้บรรยากาศของมื้ออาหาร เวลาที่ได้กินร่วมกัน และรู้เวลาว่าในแต่ละครั้งเขาจะได้กินนานแค่ไหน
  4. ลูกน้อยจะรู้จักความรู้สึกของการหิว อิ่ม และได้เลือกอาหารด้วยตัวเอง ซึ่งหากให้ลูกได้กินผักตั้งแต่เนิ่นๆ เขาก็จะรู้จักกินผักได้เอง โดยไม่ต้องบังคับป้อนอีกด้วย
  5. ลูกน้อยรู้สึกสนุก มีอิสระในการทานอาหารของตัวเอง  และรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญในครอบครัว
  6. คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเตรียมอาหารปั่นบด และต้องเหนื่อยกับการป้อน เพราะลูกจะได้อยู่กับที่แล้วฝึกกินเอง
BLW คือ อะไร

วิธี BLW ดี แต่ก็มีข้อจำกัดและควรระวัง

การให้ลูกน้อยกินอาหารมื้อแรกด้วยตัวเอง แบบ BLW แม้จะมีข้อดี แต่ก็อาจจะไม่เหมาะกับความต้องการของหลายๆ บ้าน ที่อาจไม่ชอบความเลอะเทอะ ไม่มีเวลาทำอาหารแยกให้เด็กทุกมื้อ เพราะอาหารบดหรือปั่น สามารถแช่แข็งและนำมาอุ่นให้ลูกกินได้ หรือคุณพ่อคุณแม่ต้องไปทำงาน ต้องฝากลูกหลานกับผู้ใหญ่ท่านอื่น ที่อาจดูแลลูกได้ไม่ใกล้ชิด

การให้ลูกกินแบบ BLW จึงมีข้อจำกัดหลายอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับครอบครัวของตัวเอง ได้แก่

  • ต้องเริ่มให้ลูกกินได้เมื่อลูกนั่งได้เอง และลูกน้อยเริ่มมีการคว้าโน่นนี่นั่นเข้าปากได้เองด้วย นั่นคืออายุประมาณ 6 เดือนเป็นต้นไป แต่หากลูกมีโรคประจำตัว คลอดก่อนกำหนด มีปัญหาการกิน ปากแหว่งหรืออื่นๆ ควรปรึกษากุมารแพทย์ก่อนให้ลูกกินด้วยวิธีการนี้
  • ต้องมีคนอยู่กับลูกตลอดเวลา  เพราะลูกจะต้องนั่งกินอาหารพร้อมกับผู้ใหญ่ โดยมีคุณแม่หรือผู้ใหญ่หมั่นคอยสังเกตอาการเวลาลูกกิน ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเช่น ลูกติดคอ สำลัก อาเจียน หรืออื่นๆ
  • ต้องรู้จักวิธีการช่วยเหลือลูก หรือปฐมพยาบาลลูก ในกรณีลูกกินอาหารแล้วสำลัก มีเศษอาหารติดคอ เพื่อจะได้ช่วยเหลือลูกให้ทันเวลา ไม่ให้อาหารที่ลูกสำลักหรือติดคอ ไปปิดกั้นทางเดินหายใจจนทำอันตรายลูกถึงชีวิต
  • ระวังไม่ให้ลูกกินอาหารเสี่ยงติดคอและอาหารห้ามกินต่างๆ  เช่น กระดูกอ่อน ไส้กรอก ป๊อบคอร์น เมล็ดผลไม้หรือเมล็ดธัญพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม เมล็ดมะขาม น้ำแข็ง เยลลี่ น้ำผึ้ง ก้างปลา มะเขือเทศทั้งลูก เป็นต้น
  • มีอุปกรณ์ เก้าอี้ทานข้าวสำหรับเด็กหรือ High chair พร้อม  เพราะการกินอาหารแบบ BLW ต้องให้ลูกน้อยนั่งกินเท่านั้น   และเก้าอี้กินข้าวของลูกจะช่วยยึดตัวลูกกับเก้าอี้ไม่ให้เคลื่อนไหว  ควรเป็นเก้าอี้กินข้าวแบบมีพนักพิงหลัง และควรเป็นแบบสูง ในระดับเดียวกับโต๊ะกินข้าวผู้ใหญ่  พับเก็บได้สะดวก ยิ่งเป็นเก้าอี้สำหรับเด็กที่ปรับระดับได้ยิ่งสะดวกดี ลูกน้อยก็จะได้นั่งร่วมโต๊ะกินอาหารไปกับพ่อแม่และคนในบ้านได้ตลอด  แม้วันที่เปลี่ยนบรรยากาศไปกินที่สนามหญ้าหน้าบ้านหรืออื่นๆ   
  • เข้าใจว่าลูกต้องกินบ้างเล่นบ้าง และต้องปล่อยให้ลูกกินได้แบบเลอะเทอะ  แต่ควรจำกัดเวลาการกิน เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาจะกินได้แค่ไหน เมื่อหมดเวลาแล้วต้องเก็บอาหาร มิเช่นนั้นลูกจะเล่นอาหารจนเพลินและไม่ยอมกิน
  • ลูกอาจมีน้ำหนักน้อย ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน   เพราะการให้ลูกกินอาหารเอง อาจทำให้ลูกขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่นแคลเซียมหรือธาตุเหล็ก และมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้  ดังนั้นหากลูกเป็นเด็กกินนมน้อย น้ำหนักน้อยอยู่แล้ว อาจจะต้องพิจารณาว่าการให้ลูกกิน BLW เหมาะสมหรือไม่  วิธีการกินแบบไหนจะทำให้ลูกกินได้มากขึ้น

BLW เหมาะกับครอบครัวเราหรือไม่?

วิธีการกินแบบ  BLW เหมาะกับครอบครัวที่มีคุณแม่เลี้ยงลูกเต็มเวลา หรือบ้านที่คนเลี้ยงหลักมีความเข้าใจในหลักการและวิธีการให้ลูกกินอาหารแบบนี้เป็นอย่างดี  รวมทั้งเป็นครอบครัวที่ทำอาหารกินเองที่บ้านเป็นส่วนใหญ่  คุณพ่อคุณแม่หรือคนใกล้ชิดมีเวลาสังเกตดูแลการกินของลูกน้อย ว่าได้รับอาหารเพียงพอเหมาะสมหรือไม่ เพราะช่วงแรกๆ ลูกอาจจะเล่นอาหารมากกว่ากินจริงจัง จึงต้องหมั่นดูแลและเสริมด้วยนมแม่หรืออาหารที่มีคุณค่าเพิ่มเติม

นอกจากการมีคุณแม่ที่ดูแลลูกเต็มเวลา และทำอาหารทานเองแล้ว  ควรพิจารณาไลฟ์สไตล์การทำอาหารและกินอาหารของที่บ้านว่าเป็นแบบไหน  เพราะการทำอาหารให้ผู้ใหญ่แล้วต้องแยกทำให้ลูกเล็กอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางบ้าน  เช่น ครอบครัวทุกคนกินอาหารรสจัด หรือกินข้าวนอกบ้าน  พ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน จึงให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงลูกให้ตอนกลางวัน  การทำอาหารแยกให้ลูกน้อยจึงไม่สะดวกเท่ากับการทำอาหารบด อาหารปั่นให้ลูกแช่แข็งไว้ เพราะทำแค่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ แบบนี้ก็อาจเลือกใช้วิธีการให้อาหารเสริมแบบเดิม โดยให้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายที่เลี้ยงลูกน้อยตอนกลางวันป้อนให้หลานนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code