แม่ท้องต้องตรวจคัดกรองอะไร ใน 3 ไตรมาส

แม่ท้องต้องตรวจคัดกรองอะไร ใน 3 ไตรมาส

เมื่อรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ คุณแม่เคยสงสัยไหมว่าตลอดเวลา 9 เดือนที่ลูกน้อยอยู่ในท้องนั้น ต้องตรวจอะไรบ้าง แม้กระทั่งในวันไปฝากครรภ์คุณหมอก็จะต้องขอตรวจหลายอย่างจากคุณแม่ เพื่อตรวจเช็กสุขภาพ โรคประจำตัว และความเสี่ยงต่างๆ เพื่อการดูแลให้คุณแม่มีครรภ์คุณภาพตลอดเวลา

เราจึงมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองต่างๆ เพื่อสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยตลอด 3 ไตรมาส เพื่อให้คุณแม่ได้รู้ว่าในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์ จะต้องเข้ารับการตรวจอะไร ควรจะเลือกตัดสินใจตรวจแบบไหน รวมถึงการตรวจคัดกรองต่างๆ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เหมาะกับคุณแม่วัยไหนบ้าง

แม่ท้องต้องตรวจอะไร? จำเป็นแค่ไหนนะ?

การตรวจคัดกรองและตรวจเช็กสุขภาพต่างๆ ของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลของการตรวจต่างๆ จะช่วยประเมินสุขภาพและความปลอดภัยทั้งของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ได้รู้ถึงความเสี่ยงต่างๆ ในขณะตั้งครรภ์  ได้ตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม โรคภัยแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ประเมินอายุครรรภ์และการคลอด รวมถึงยังทำให้ได้รู้ความเสี่ยงอาการดาวน์หรือความผิดปกติของโครโมโซมอื่นๆ ที่สำคัญ ตลอดจนได้รู้โครโมโซมเพศของลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย

ซึ่งการตรวจต่างๆ นี้จะช่วยให้คุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง ดูแลสุขภาพลูกน้อยให้แข็งแรงได้ดี และคุณหมอจะยังสามารถให้คำแนะนำคุณแม่ในการปฏิบัติตัว การดูแลรักษาโรคภัยต่างๆ และให้คำแนะนำคุณแม่ในการตัดสินใจคลอดอีกด้วย  เรียกว่าหากคุณหมอแนะนำให้คุณแม่ตรวจอะไร ควรตัดสินใจและเชื่อมั่นในหมอและตัวเองไว้ดีที่สุดค่ะ

การตรวจคัดกรองคุณแม่ตั้งครรภ์ 1-3 เดือน (14 สัปดาห์แรก)

  • ฝากครรภ์ครั้งแรก

คุณแม่จะต้องถูกซักประวัติ ตรวจปัสสาวะ เจาะเลือด เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจหากรุ๊ปเลือด ตรวจโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส กามโรค ตับอักเสบบี ตับอักเสบซี รวมถึงการตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูก (กรณีคุณแม่มีข้อบ่งชี้)

  • การตรวจคัดกรองความผิดปกติของลูกน้อยไตรมาสแรก (First Trimester Screening)
  1. ตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อดูอายุครรภ์ กำหนดเวลาคลอด ดูการตั้งครรภ์นอกมดลูก รู้จำนวนลูกน้อยในครรภ์ และวินิจฉัยโรคขณะตั้งครรภ์
  2. ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมของลูกน้อยในครรภ์ ร่วมกับอัลตร้าซาวนด์เพื่อวัดความหนาของสันคอลูกน้อย(วัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก)เพื่อประเมินภาวะดาวน์ซินโดรม หรือ NT (Nuchal Translucency) โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์วัดความหนาบริเวณต้นคอของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งหากตรวจพบว่าลูกมีผนังคอหนามากกว่าปกติ อาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะมีโครโมโซมผิดปกติหรือเป็นดาวน์ซินโดรมได้ (โดยคุณหมออาจจะมีการตรวจสารชีวเคมีและฮอร์โมนในเลือดคุณแม่ตั้งครรภ์อีก 2 ชนิด (PAPP-A กับ Free Beta hCG) เพิ่มเติมได้อีก เพื่อให้ผลแม่นยำยิ่งขึ้น
  3. ตรวจเลือดคุณแม่เพื่อคัดกรองความผิดปกติของลูก NIPT (Non-Invasive Prenatal Testing) หรือ NIPS (Non-Invasive Prenatal Screening) สามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ ไปจนถึง 14 -18 สัปดาห์ เป็นนวัตกรรมการตรวจคัดกรองลูกน้อยในครรภ์แบบใหม่ที่นิยมใชกันมากขึ้น เนื่องจากสามารถค้นหาความผิดปกติหรือตรวจโครโมโซมลูกน้อยในครรภ์ได้จากเลือดคุณแม่ โดยไม่มีผลกระทบต่อลูกน้อยหรือไม่มีความเสี่ยงต่อการแท้งนั่นเอง

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรับการตรวจ NIPT ซึ่งเป็นการตรวจที่ปลอดภัยและมีความแม่นยำสูง ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป โดยการตรวจชนิดนี้ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ลำดับเบส (Next Generation Sequencing) ในการวิเคราะห์หาความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้สามารถตรวจคัดกรองได้ค่อนข้างมาก ทั้งการความผิดปกติของโครโมโซมต่างๆ  ที่บอกถึงกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด กลุ่มอาการพาทัวร์ และยังสามารถบอกโครโมโซมเพศของลูกน้อยให้คุณแม่รู้ได้อีกด้วย

4.การตรวจชิ้นเนื้อรก (CVS) ที่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยรู้จัก แต่เป็นการตรวจที่แม่นยำ  ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีนี้กันมากนัก ยกเว้นในรายที่มีช้อบ่งชี้สูง ด้วยวิธีการที่ต้องทำผ่านทางหน้าท้องหรือปากมดลูก ฅโดยใช้หลอดดดูดคีบตัวอย่างรกมาตรวจ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแท้ง และต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ วิธีนี้จึงไม่ได้ใช้กันในปัจจุบัน

การตรวจคัดกรองคุณแม่ตั้งครรภ์ 4-6 เดือน (15 – 28 สัปดาห์)

  • เจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis)

เป็นวิธีการตรวจที่ให้ผลความแม่นยำมาก เนื่องจากสามารถตรวจได้ทุกโครโมโซมของลูกน้อยทั้งหมด ที่บอกความเสี่ยงของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมได้แม่นยำ บอกเพศและความผิดปกติต่างๆ ได้ถูกต้อง แต่การเจาะน้ำคร่ำถือเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งลูก เนื่องจากต้องใช้เข็มเจาะทะลุผ่านหน้าท้องคุณแม่  ทำให้ปัจจุบันการเจาะน้ำคร่ำ จะใช้เมื่อจำเป็นต้องหาผลแน่นอนเท่านั้น หรือเมื่อคุณแม่เจาะเลือดแล้วพบความผิดปกติ คุณหมอจึงจะแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำเพื่อยืนย้นผลให้แม่นยำยิ่งขึ้น

  • ตรวจเลือดคุณแม่ในไตรมาสสอง แบบ Second Trimester Blood Test  หรือแบบ Quadruple Test

เป็นการเจาะเลือดคุณแม่เพื่อหาสารชีวเคมีและฮอร์โมน ตรวจหาความเสี่ยงของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมของลูกน้อย  ความผิดปกติของโครโมโซม วิเคราะห์สุขภาพลูกน้อย  ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้มากนักเนื่องจากมีการเจาะเลือดตรวจแบบ NIPT ที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ให้ผลแม่นยำ และมีความเสี่ยงต่อการแท้งน้อยมาทดแทนวิธีนี้มากขึ้น

  • ตรวจพิเศษคัดกรองเบาหวาน

สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์  อาทิ เคยคลอดลูกตัวใหญ่น้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม  มีน้ำหนักเกินขณะตั้งครรภ์ มีอายุมาก มีประวัติเบาหวานในครอบครัว หรือคุณแม่เองเป็นเบาหวาน คุณหมออาจพิจารณาให้ตรวจน้ำตาลเบาหวานในเลือด ด้วยการเจาะเลือดแบบพิเศษ ด้วยวิธีการให้อดอาหารก่อน แล้วดื่มน้ำตาลกลูโคสหรือน้ำหวาน แล้วงเจาะเลือดอีกหลายครั้ง เพื่อวินิจฉัยและหาแนวทางรักษาคุณแม่ต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จนส่งผลทำให้มีอาการความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะแทรกซ้อนอันตรายอื่นๆ

  • ตรวจเลือดคุณแม่เพื่อคัดกรองความผิดปกติของลูก NIPT

คือการเจาะเลือด เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดคุณแม่ ดูความเสี่ยงดาวน์ซินโดรมและอื่นๆ  ซึ่งหากคุณแม่ไม่ได้ทำในช่วงไตรมาสแรก ก็สามารถทำในไตรมาสที่สองได้ ซึ่งการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์วินโดรมนี้ มักแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปีได้ทำ เนื่องจากมีโอกาสที่ลูกน้อยจะเป็นดาวน์ซินโดรมสูงถึง 1 ใน 250 และยิ่งอายุของแม่มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ยิ่งสูงขึ้น  ซึ่งปัจจุบันแม้คุณแม่จะมีอายุน้อยก็สามารถตรวจคัดกรองได้เพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้น

  • ตรวจอัลตราซาวนด์หน้าท้อง อัลตราซาวน์ปากมดลูก/วัดความยาวปากมดลูก 

คุณหมอจะนัดคุณแม่ตรวจอัตราซาวน์ทางหน้าท้อง ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ  เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์ อายุครรภ์ การเติบโต รายละเอียดของอวัยวะ เพศ  โครงสร้างและตำแหน่งของลูกน้อย  ดูตำแหน่งรก

รวมถึงอาจมีการอัลตราซาวนด์ปากมดลูก ในช่วงอายุครรภ์ที่ 22-24 สัปดาห์ หรือการวัดความยาวของปากมดลูก เพื่อวิเคราะห์และป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เป็นการตรวจเช็กและลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงหรือเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน

  • ตรวจความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

เป็นการเจาะเลือดตรวจ(PIGF และ sFIT-1)ที่เน้นเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้สำคัญและจำเป็น เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ  เช่น คุณแม่ที่มีประวัติตั้งครรภ์ผิดปกติ คุณแม่ที่มีอายุมาก เคยตั้งครรภ์และมีความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์แฝด วิธีการตรวจคือเจาะเลือด นำสารที่บ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษมาวัดระดับโปรตีนสำคัญ 2 กลุ่ม แล้วนำมาคำนวณว่ามีระดับผิดปกติหรือไม่

การตรวจคัดกรองคุณแม่ตั้งครรภ์ 7-9 เดือน (29 – 42 สัปดาห์)

  • ตรวจอัลตราซาวนด์

คุณแม่ไตรมาสที่สามบางท่าน อาจจะมีนัดทำอัลตราซาวนด์อีกครั้ง เพื่อตรวจขนาดมดลูก ตรวจสุขภาพลูกน้อยในครรภ์ ดูการเติบโต ฟังเสียงหัวใจลูก สังเกตการดิ้น ดูส่วนนำของลูกน้อยเพื่อเตรียมการคลอด คาดคะเนน้ำหนักลูกน้อย และพิจารณาวิธีการคลอดที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

  • การตรวจอื่นๆ

สำรับคุณแม่ตั้งครรภ์บางท่านที่มี่ความเสี่ยงหรือมีปัจจัยบ่งชี้ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขณะตั้งครรภ์ และอาจมีผลต่อการคลอด คุณหมออาจมีการแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมได้แก่ การเจาะเลือดดูภาวะซีด สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะซีด  การตรวจน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง เบาหวาน และครรภ์เป็นพิษได้

คำแนะนำเพิ่มเติม : การตรวจดังกล่าวทั้งหมด คุณหมอสูติจะเป็นผู้ให้คำแนะนำคุณแม่ในการเลือกตรวจว่าควรทำแบบไหนบ้าง และควรทำในช่วงเวลาเท่าไร มีค่าใช้จ่ายอย่างไร ซึ่งคุณแม่บางท่านอาจจะไม่ได้รับการตรวจคัดกรองข้างต้นในทุกแบบได้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ปัจจัยสุขภาพ และการตัดสินใจของแต่ละครอบครัว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code