14 วิธีรับมือลูกแรกเกิด

เตรียมตัวรับมือให้พร้อมกับการเป็นคุณแม่อย่างเต็มตัว กับ 14 วิธีรับมือลูกแรกเกิด

  1. วางแผนล่วงหน้า : ใครจะเป็นคนตื่นกลางดึกมาดูแลถ้าลูกตื่นร้องไห้
    พ่อแม่รู้สึกอย่างไรเวลาลูกร้องไห้มากๆอยากกินนมตลอดเวลา จะยอมเสริมนมผงไหม หรือ ถ้ารู้ว่าลูกได้นมเพียงพอแล้ว จะใจแข็งไม่เสริมแต่ใช้วิธีอื่นๆ ทำให้ลูกสงบแทน จะได้ไม่มาถกเถียงกัน หรือ ขัดแย้งกันภายหลัง ถ้ามีการวางแผนที่ดี การรับมือจะง่ายขึ้นโดยไม่เครียดมาก
  2. ถ้าเป็นไปได้ เลื่อนแผนงานเมกะโปรเจกท์อื่นๆออกไปก่อน : จนกว่าลูกจะอายุครบขวบ
    เพื่อลดความเครียดจากการต้องทำงานที่ยิ่งใหญ่สองงานพร้อมๆกัน
  3. วางแผนตารางชีวิตประจำวันตั้งแต่ลูกยังไม่คลอด เมื่อถึงเวลาจริงจะได้ไม่ฉุกละหุก : ในหนึ่งวันมีงานอะไรต้องทำบ้าง
    วันไหนที่อยากจะออกไปเที่ยวกันสองต่อสอง และถ้าเป็นไปได้ ก็วางแผนยาวล่วงหน้า 18 ปีไว้เลย
  4. ยืดหยุ่นและประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ : อย่าเชื่อตามตัวอักษรในตำราเป๊ะๆ
    เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้สังเกตลูกแล้วปรับตัวให้เข้ากับครอบครัวตัวเอง
  5. จดบันทึก : ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้จดข้อมูล การกิน การนอน การร้องไห้ของลูก อย่างต่อเนื่อง
    จะช่วยให้มองเห็นแบบแผนลักษณะประจำตัวของลูกได้เร็ว และ ใช้เป็นข้อมูลส่งต่อให้คนอื่นที่มาช่วยดูแลลูกแทนเวลาพ่อแม่ไม่อยู่ ทำให้การดูแลง่ายขึ้น
  6. จัดลำดับความสำคัญ : จดรายการสิ่งสำคัญที่ต้องทำ
    การดูว่าอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญ หมายถึง ถ้าไม่ทำสิ่งนั้น จะส่งผลต่อสุขภาพ ความปลอดภัย ความเป็นปกติสุขของครอบครัว ส่วนงานอื่นๆ ถ้าไม่มีเวลาทำ และไม่มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ก็ควรใช้บริการรับจ้าง เช่น ทำสวน ซักเสื้อผ้า ทำกับข้าว เป็นต้น
  7. ผูกปิ่นโต : โดยเลือกร้านที่สะอาด ปลอดภัย มึคุณภาพดี รสชาติอร่อย และมีหลากหลาย
    จะช่วยแบ่งเบาภาระเวลาในการจ่ายตลาด เวลาในคิดรายการอาหาร เวลาในการปรุงอาหารและเก็บกวาดครัว แต่ถ้าไม่มีร้านอาหารในอุดมคติ หรือ มีงบประมาณจำกัด ให้เตรียมทำอาหารครั้งละมากๆ เก็บใส่ตู้เย็นไว้ แล้วเอาออกมาอุ่นกินได้หลายๆมื้อ
  8. อย่าลืมกอดกันบ่อยๆ : เวลาเหนื่อยๆ การได้กอดคนที่เรารัก จะช่วยให้หายเหนื่อยได้
  9. หาเพื่อนหัวอกเดียวกันออนไลน์ : แต่ต้องกลั่นกรองเรื่องข้อมูลข่าวสาร เพราะอาจทำให้เครียดมากขึ้น ถ้าหมกมุ่นมากเกินไป
  10. ระวังเรื่องการเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น : ทำไมตัวเล็กกว่า ทำไมยังไม่อ้อแอ้
    ถ้ามีอะไรสงสัยให้ถามคุณหมอประจำตัว อย่าเก็บความคิดไว้คนเดียว จะทำให้เครียดโดยไม่จำเป็น
  11. การได้หัวเราะเป็นยาวิเศษ : ไปหาซิทคอม หนังตลก มาดูเวลาที่ต้องนั่งให้นมนานๆ หรือ เวลาต้องอุ้มลูกนานๆ
  12. ถ้าลูกนอน ควรนอนด้วย : เพราะถ้าแม่อดนอนจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด
    ถ้าพ่อหรือแม่คนหนึ่งตื่น อีกคนหนึ่งควรจะนอนหลับ เพื่อที่จะได้ผลัดกันพักผ่อน และผลัดกันเข้ากะหรือเข้าเวรดูแลลูก
  13. อย่าทำตัวเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ : คุณแม่ไม่ควรทำทุกอย่างคนเดียวตั้งแต่การเปลี่ยนผ้าอ้อม ไปจนถึงการทำนัดกับคุณหมอเด็ก
    เพราะถ้าคุณเหนื่อยล้าเกินไป จะไม่เป็นการดีสำหรับตัวคุณ และ ลูก คุณพ่อผู้มีประสบการณ์เล่าว่า ขวบปีแรกของลูกผ่านไปได้อย่างไม่ลำบากนักเ เพราะมีพี่เลี้ยงจากศูนย์มาช่วยดูลูกในบางคืนต่อสัปดาห์ หรือ บางคนอาจให้ญาติผู้ใหญ่ หรือ เพื่อนบ้านที่ไว้ใจช่วย
  14. ออกกำลังกายวันละนิด จิตแจ่มใส : ไม่มีเวลาไปยิม ก็เลี้ยงลูกไปด้วย ออกกำลังกายไปด้วย
    เช่น เอาลูกใส่เป้อุ้มแล้วเดินสายพาน ขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานขณะทำอาหาร แขม่วกล้ามเนื้อหน้าท้องขณะนั่งให้นมลูก จ๊อกกิ้งไปด้วยเข็นรถลูกไปด้วย เป็นต้น

อบคุณบทความดีๆ จาก คุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ