ไม่อยากให้ตะคริวมาเยือนตอนท้อง ป้องกันอย่างไร?

พูดถึง “ตะคริว” แม้จะไม่ใช่คุณแม่ท้องยังต้องส่ายหน้าเพราะไม่อยากเป็น ก็เป็นตะคริวทีไรปวดขา ปวดน่องจนขยับไม่ได้และทรมานสุดใจจริงๆ  ยิ่งเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ที่แทบทุกคนจะต้องเผชิญอาการปวดตะคริวนี้ ยิ่งแสนทรมาน ไหนจะท้องใหญ่ขยับตัวลำบาก เคลื่อนไหวยาก มาเป็นตะคริวตอนกลางคืนหรือดึกๆ อีก ทำให้นอนไม่หลับ นอนไม่เต็มที่ ไม่รู้จะบรรยายความรู้สึกอย่างไร

ฉะนั้นถ้าคุณแม่ท้องรู้ทันและป้องกันตะคริวได้ล่วงหน้า เชื่อว่าแม่ๆ จะต้องแฮปปิ้ยิ้มร่าแน่นอน

 

4 ทำไม?แม่ท้อง ต้องเป็นตะคริว 

                จริงๆ แล้วไม่ใช่แม่ท้องเท่านั้นที่เป็นตะคริว  เพราะคนทั่วๆ ไปก็มักจะเป็นได้ ยิ่งคนในวัยทำงาน เพราะอาการ “ตะคริว” หรืออาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เกิดจากการขาดแคลเซียม และมีฟอสฟอรัสมากเกินไปในกระแสเลือด การยืน เดิน หรือต้องนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะเป็นเวลานานๆ ซึ่งจะทำให้เลือดเดินไม่สะดวก เกิดของเสียคั่งบริเวณน่อง เลือดไหลเวียนไปส่วนล่างได้ไม่สะดวก ทำให้กล้ามมเนื้อหดตัวจนเกิดตะคริวได้ 

                ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ทำไมถึงเป็นตะคริวบ่อยและเป็นเกือบทุกราย โดยมักจะมีอาการเป็นตะคริวเกิดขึ้นบ่อยในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ นั่นก็เพราะว่าในช่วงท้อง จะมีภาวะที่รวมเอาสาเหตุปัจจัยเกือบทุกอย่างที่ทำให้เป็นตะคริวไว้ด้วยกัน  ตั้งแต่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้ขาทั้งสองข้างของคุณแม่แบกรับน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ส่งผลให้ระบบหมุนเวียนโลหิตบริเวณขาตึงแน่นเกินไป เลือดเดินไม่สะดวกเกิดของเสียคั่งบริเวณน่อง อิริยาบถการยืน เดินหรือนั่งในท่าเดิมๆ นานๆ  และการได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดตะคริวได้นั่นเอง  

4 เคล็ดลับ ขจัดตะคริวแม่ท้อง 

                เพราะตะคริว เป็นอาการไม่พึงประสงค์ของคุณแม่ท้อง เนื่องจากทำให้คุณแม่ต้องเจ็บปวดบ่อยๆ ในขณะตั้งครรภ์ทั้งยังมักจะรบกวนการนอนเพราะจะเป็นมากในตอนกลางคืน เราจึงขอแนะนำเทคนิควิธีการป้องกันก่อนที่อาการตะคริวยอดฮิตนี้จะมาเยือน ด้วยวิธีการดังนี้

  • กินอาหารต้านตะคริว

                กินอาหารที่มีแคลเซียมให้มากและเพียงพอ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย งา ถั่วเหลือง เต้าหู้ และอย่าลืมกินแคลเซียมที่คุณหมอจ่ายให้ในช่วงตั้งครรภ์สม่ำเสมอ  เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายคุณแม่มีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ จนส่งผลให้เป็นตะคริวได้บ่อย  คุณแม่ตั้งครรภ์จึงต้องกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงให้มากเพียงพอ พร้อมกับควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียมด้วย เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมและแอลกอฮอล์

                กินผักและผลไม้เป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายคุณแม่ได้รับแร่ธาตุและวิตามินสม่ำเสมอ ให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียมแมกนีเซียมและสังกะสี ที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมถึงวิตามินต่างๆ จากผักผลไม้สีเขียวเข้ม สีแดง และสีเหลือง  ธัญพืช ถั่วลิสง เมล็ดฟักทองและอื่นๆ

  • ดื่มน้ำให้มากเพียงพอ

เพราะหากคุณแม่มีภาวะร่างกายขาดน้ำ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดตะคริวได้โดยเฉพาะในหน้าร้อน ที่ร่างกายต้องเสียเหงื่อมากกว่าปกติ  คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหมั่นดื่มน้ำบ่อยๆ ในทุกวัน อย่าปล่อยให้รู้สึกกระหายน้ำ  เพราะนอกจากอาการตะคริวแล้ว การขาดน้ำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ

  • เปลี่ยนท่านั่ง ยืน เดิน

                หมายถึงการหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ไม่นั่ง ยืน หรือเดินในท่าเดิมๆ ซ้ำๆ นานเกินไป รวมถึงพยายามค่อยๆ เปลี่ยนท่าทาง และคุณแม่ควรเดิน นั่ง และยืนในท่าที่ถูกต้อง หลังตรง ไม่โก่งโค้ง งอขา นั่งไขว่ห้าง นั่งพับขา ยกของหนัก เพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการตะคริวแล้ว ยังทำให้คุณแม่มีปัญหาปวดหลัง ปวดขา ปวดเข่าได้อีกด้วย  

  • ปรับท่าทางเวลานอน

                เวลานอนให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนยกขาสูง โดยควรใช้หมอนหรือผ้าห่มหนาๆ รองบริเวณขาและเท้าให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อยหรือสูงจากเตียงประมาณ 10 ซม. (4 นิ้ว) เพื่อช่วยไม่ให้ขาต้องแบกรับน้ำหนักจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณกล้ามเนื้อน่องให้ดีขึ้น  ส่งผลป้องกันการเกิดตะคริว หรือลดอาการให้น้อยลงได้

4 กลยุทธ์ หยุดอาการเจ็บ เมื่อตะคริวมาเยือน

แต่หากคุณแม่ป้องกันและทำทุกทางไม่ให้เกิดตะคริวแล้ว แต่ก็ยังเป็นตะคริวอยู่  เราขอเสนอวิธีการบรรเทาอาการเจ็บปวด การผ่อนคลายความปวดให้ทุเลาลงได้รวดเร็ว นั่นคือ

  • การเหยียดขาข้างที่เป็น โดยเมื่อมีอาการ ให้คุณแม่ค่อยๆ ใช้มือประคองและยืดกล้ามเนื้อข้างที่เป็นออก ให้อยู่ในความยาวที่ปกติของกล้ามเนื้อนั้น ๆ และให้ยืดกล้ามเนื้ออยู่จนกระทั่งหายปวด ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 นาที จากนั้นลองปล่อยมือดูว่ากล้ามเนื้อนั้น ยังเกร็งอยู่หรือไม่ ถ้ายังเกร็งอยู่ให้ทำซ้ำจนกระทั่งปล่อยมือแล้วไม่มีอาการเกร็งตัว
  • ใช้มือประคองเท้าหรือขาข้างที่เป็นจากนั้นค่อยๆ ดันปลายเท้าขึ้น-ลง หรือการใช้ผ้ายาวๆ คล้องไว้ที่ปลายเท้าแล้วดึงผ้าเข้าหาตัวให้ตึง เพื่อให้ปลายเท้ากระดกเข้าหาตัว 
  • ให้คุณพ่อช่วยจับปลายเท้าคุณแม่ข้างที่เป็นตะคริว ค่อยๆ กระดกขึ้น
  • กรณีหากเป็นตะคริวที่ต้นขา ให้ค่อยๆ เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นจากพื้นเล็กน้อย และกระดกปลายเท้าลงด้านล่าง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code