ไขข้อสงสัย ทารกแรกเกิด จำเป็นต้องใช้ หมอนทารก หรือ หมอนหัวทุย ไหมนะ?

หมอนทารก

ว่าที่คุณแม่มือใหม่หลายคนคงจะปวดหัวไม่น้อย ว่าลูกน้อยของเราควรจะหนุน หมอนทารก นอนหรือไม่ แล้ว หมอนหัวทุย จำเป็นไหม กดมือถือหาข้อมูลทีไรก็หาข้อสรุปไม่ได้เสียที ไม่ต้องกังวลไปค่ะ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจให้หายสงสัยกันค่า

การนอนของทารก

หมอนทารก ทารกควรหนุนหรือไม่

คำแนะนำจากกุมารแพทย์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกล่าวว่า ท่านอนที่ดีและปลอดภัยสำหรับทารกที่สุดก็คือ การนอนหงายโดยไม่หนุนอะไรทั้งสิ้น เพราะสรีระของกะโหลกศีรษะของทารก ซึ่งจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว ทำให้พอดีในการนอนแล้วถึงแม้จะนอนหงาย

และนอกจากนี้จะต้องไม่มีสิ่งของอื่นๆ เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา ของเล่น ฯลฯ อยู่บนเตียงขณะลูกน้อยนอนหลับ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากการนอน หรือโรคไหลตายในทารก (SIDS) ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตเด็กๆ มากมายทั่วโลก และโรคนี้มักจะเกิดกับเด็กอายุไม่เกิน 4 เดือนมากที่สุด โดยที่เด็กยังแข็งแรงดีอีกด้วย แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่หนึ่งในปัจจัยที่ชัดเจนและกระตุ้นให้เกิดการเสียชีวิตคือการที่มีผ้า วัตถุนุ่มๆ หรือการใช้ที่นอนที่อ่อนยวบเกินไป ไปอุดกั้นทางเดินหายใจของลูก จากการที่ลูกเกิดพลิกตัวนอนคว่ำ หรือคว้าวัตถุเหล่านั้นมาโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเด็กยังเล็กเกินไปที่จะชันคอหรือพลิกตัวกลับได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ทารกจึงยังไม่จำเป็นต้องใช้หมอนหนุนนอนจนกว่าจะเข้าสู่วัยเตาะแตะหรือ 18 เดือนขึ้นไป หรือช้ากว่านั้นได้ยิ่งดีค่ะ

การนอนของทารก

กลัวลูกหัวแบน ทำไงดี

อีกหนึ่งความกังวลใหญ่ของบรรดาแม่ๆ คือ กลัวลูกหัวแบน เพราะต้องนอนหงายตลอดเวลา ปัจจุบันจึงได้มีการผลิตคิดค้นหมอนหนุนสำหรับทารกเพื่อป้องกันหัวแบน และลูกน้อยยังคงนอนหงายได้ด้วย แต่ทั้งนี้คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่แนะนำให้ใช้หมอนหนุนมากนัก เพราะหากใช้หมอนที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ ความสูงของ หมอนทารก ที่ไม่พอดี หรือวัสดุไม่เหมาะสม ก็จะเป็นอันตรายต่อลูกได้ จึงมักแนะนำให้เปลี่ยนท่านอนเป็นนอนตะแคง หรือทุกครั้งที่ลูกน้อยตื่นนอนมาทานนม ให้เปลี่ยนท่านอน พลิกศีรษะสลับข้างแทนก็จะช่วยลดหัวแบนได้ค่ะ

แต่…ทั้งนี้หากคุณแม่กลัวลูกน้อยนอนไม่สบาย การเลือกใช้หมอนหัวทุย ที่มีลักษณะประคองบริเวณต้นคอ ก็จะช่วยให้นอนได้ถูกต้อง คอไม่พับเอียงได้ อาจพิจารณาจากวัสดุ และรูปทรงของหมอนที่ออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ ปลอดภัยต่อการนอนของทารกด้วยนะคะ

Upload Image...

เคล็ดลับลูกน้อยนอนสบาย ปลอดภัย และหัวทุย

คุณแม่ที่กังวลว่า หากให้ลูกนอนคว่ำ ก็จะนอนไม่ปลอดภัย แต่นอนหงายก็ห่วงว่าหัวลูกจะแบน นี่คือเคล็ดไม่ลับที่จะช่วยให้คุณแม่หมดกังวล แถมลูกน้อยนอนสบาย ปลอดภัย และหัวทุยไปพร้อมๆ กันค่ะ

  • เปลี่ยนท่านอนบ่อยๆ แทนที่จะปล่อยให้ลูกน้อยนอนหงายนานๆ ให้คุณแม่ค่อยๆ เปลี่ยนให้ลูกนอนตะแคงซ้ายไปขวา ขวาไปซ้ายบ้าง ข้อควรระวัง ห้ามใช้หมอนหรือหมอนข้างมาดันหลังลูกน้อยเพื่อให้นอนตะแคงนานๆ นะคะ เพราะเสี่ยงที่ลูกจะพลิกคว่ำได้ค่ะ ปล่อยเตียงให้โล่งๆ ก็พอค่ะ
  • อุ้มบ่อยๆ เมื่อลูกตื่นให้อุ้มลูกบ่อยๆ เพื่อลดการนอนหงายท่าเดียวนานๆ
  • เล่นนอนคว่ำบ่อยๆ ฝึกให้ลูกนอนคว่ำบ้าง และหาของเล่น ร้องเพลง หรือชวนพูดคุย เพื่อให้ลูกฝึกชันคอ หันคอตาม กล้ามเนื้อลูกจะได้แข็งแรง
  • เปลี่ยนตำแหน่งการวางของเล่นบ่อยๆ แทนที่จะวางของเล่นตำแหน่งเดิม ให้ลองเปลี่ยนไปวางที่ใหม่ ทุกๆ อาทิตย์ จะช่วยกระตุ้นให้ลูกรู้จักหันมอง และรู้จักการเอียงศีรษะไปในทิศทางใหม่ๆ ได้มากขึ้น
  • สลับข้างให้นม ไม่อุ้มท่าเดิมนานๆ แต่ให้สลับเปลี่ยนข้างบ้าง
หมอนทารก

5 วิธีการเลือกใช้ หมอนทารก ให้เหมาะและไม่เป็นอันตรายกับทารก

สำหรับบ้านไหนที่จำเป็นต้องให้ทารกนอนหนุนหมอน เรามีเคล็ดลับความปลอดภัยในการเลือกหมอนสักใบให้ลูกน้อยมาฝากค่ะ

  1. เลือกหมอนที่แบน ราบ เนื้อแน่น ไม่นุ่มนิ่มอ่อนยวบเกินไป เพราะหมอนสูงจะทำให้คอของเด็กพับลง ปิดกั้นทางเดินหายใจได้ ส่วนหมอนที่นุ่มเกินไป จะทำให้หมอนบุ๋มต่ำ คอหงาย ส่วนบริเวณที่ลูกไม่ได้หนุนจะยกสูงจนหมอนมาปิดจมูกของลูกได้
  2. วัสดุที่ใช้จะต้องระบายอากาศได้ดี เพราะความร้อนทำให้ลูกนอนไม่สบาย เกิดผดผื่นหรือแพ้ได้ แนะนำให้ใช้ คอตตอน 100%
  3. เลือกหมอนที่ได้มาตรฐาน ออกแบบมาเฉพาะสำหรับทารกเท่านั้น
  4. ห้ามใช้หมอนที่บรรจุด้วยไมโครบีดส์ เพราะหากหมอนเกิดฉีกขาด เม็ดไมโครบีดส์เหล่านั้นอาจเข้าตาหรือปากของลูกได้
  5. หลีกเลี่ยงหมอนที่เสริมฟังก์ชั่นพิเศษ เช่น ใส่กลิ่นหอม หรือประดับด้วยเชือก กระดุม หรือตุ๊กตา ฯลฯ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อลูกได้ แต่ให้เลือกหมอนที่เรียบง่ายไม่หวือหวาแทน
หมอนทารก

หมอนทารก มีแบบไหนบ้าง

ปัจจุบันมีหมอนที่ออกแบบสำหรับทารกโดยเฉพาะในท้องตลาดมากมาย โดยหลักๆ แล้ว มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกันค่ะ

  1. หมอนหลุม เป็นหมอนที่ออกแบบให้มีหลุมตรงกลางเพื่อโค้งรับและประคองศีรษะของลูกน้อย ช่วยให้หัวทุย ไม่แบน หากต้องนอนหงายนานๆ นอกจากนี้ บางยี่ห้อยังมีการออกแบบพิเศษ ช่วยกันไม่ให้ลูกนอนแล้วพลิกคว่ำได้ด้วย
  2. หมอนป้องกันกรดไหลย้อน ลักษณะหมอนจะลาดเอียงลง เพื่อให้ลูกนอนแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน เหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการกรดไหลย้อน หรือป้องกันเด็กไม่ให้แหวะนม
  3. หมอนงู ลักษณะจะคล้ายหมอนข้าง แต่ยาวกว่า สามารถประยุกต์ใช้เป็นทรงต่างๆ ได้ตามชอบ หมอนงูมีคุณสมบัติช่วยป้องกันเด็กผวาตื่น หรือจะทำเป็นรั้วป้องกันตรงขอบเตียงก็ได้ สามารถใช้ได้นานจนถึงวัยเตาะแตะเลย

หวังว่าคุณแม่มือใหม่จะคลายข้อสงสัยเรื่องการใช้หมอนสำหรับทารกกันไปบ้างแล้ว อย่างไรคุณแม่ๆ ลองพิจารณาถึงความปลอดภัยของลูกน้อยเป็นหลักก่อนนะคะ ทั้งนี้ หากลูกน้อยมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือปัญหาด้านการนอน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอค่ะ

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การนอนของทารก” ได้ที่นี่

ข้อมูลจาก:

ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี
http://www.csip.org/csip/autopage/show_page.php?h=118&s_id=75&d_id=75

Southern Nevada Health District
http://www.southernnevadahealthdistrict.org/th/Health-Topics/preventing-infant-suffocation-and-sids/

Family Health Service (FHS) of the Department of Health
https://www.fhs.gov.hk/english/other_languages/thai/child_health/new_born/14799.html

Parenting First Cry
https://parenting.firstcry.com/articles/when-to-use-pillow-for-baby/

What to Expect
https://www.whattoexpect.com/first-year/ask-heidi/pillow-for-baby.aspx

Made For Mums
https://www.madeformums.com/baby/are-baby-pillows-safe/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code