โครงการ”รักลูกให้รอดปลอดภัยเมื่อใช้รถ”

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข กรมทางหลวง กองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สสส และ คุณแทนคุณ จิตต์อิสระ

จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในแต่ละปีจะมีเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถยนต์ รถปิกอัพ หรือรถตู้ กว่า 5500 รายต่อปีหรือ 15 คนต่อวัน   เป็นการบาดเจ็บรุนแรงที่ต้องการการนอนพักรักษาตัวหรือสังเกตุอาการในโรงพยาบาลประมาณ 1400 คนต่อปี และเสียชีวิต รวมประมาณ 70คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นรถปิกอัพกว่า 1190 ราย และรถยนต์ทั่วไปอีก 170 ราย

ในช่วง 10 วันของเทศกาลสงกรานต์ จะมีเด็กบาดเจ็บจากอุบติเหตุทางถนนประมาณ 1100 ราย เป็นการบาดเจ็บรุนแรงที่เกิดจากการโดยสารรถยนต์ รถตู้ รถปิกอัพ ประมาณ 132 ราย ในจำนวนนี้มีการเสียชีวิตจำนวน 6 ราย

เมื่อรถยนต์ มีการเบรกอย่างกะทันหัน หักเลี้ยวอย่างฉับพลัน หรือชนอย่างรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีก็คือ…ร่างของเด็กๆจะหลุดลอยจากที่นั่ง ไปอัดกับแผงคอนโซลหน้ารถ ปะทะกับกระจกหน้ารถ แล้วทะลุลอยละลิ่วออกนอกรถ หรือประตูรถเปิดออก แล้วเด็กกระเด็นออกไปนอกรถ ด้วยรูปร่างเล็กบอบบางของเด็กๆ จึงทำให้…กระโหลกศีรษะ กระดูกซี่โครง แขนขา แตกหัก ปอด หัวใจ รวมทั้งอวัยวะภายในช่องท้องต้องชอกช้ำ หรือ ฉีกขาดโดยเฉพาะศีรษะของเด็กๆ ที่กระแทกอย่างรุนแรง ทำให้มีเลือดออกในสมอง เป็นเหตุแห่งความพิการ หรือ เสียชีวิต…

ภาพที่เราเห็นตามท้องถนน ส่วนใหญ่ก็คือ ผู้ใหญ่อุ้มเด็กบนตัก แล้วนั่งด้านหน้าข้างคนขับ พ่อแม่คงอยากให้ลูกอยู่ใกล้ชิดเผื่อเกิดอุบัติเหตุลูกก็คงปลอดภัยในอ้อมกอดของพ่อแม่ แต่ความจริงก็คือ…แรงมหาศาลของการปะทะของจากการชน หรือแรงจากการเบรกกระทันหันนั้นมันเกินกำลังที่พ่อแม่จะยึดลูกอยู่ หนำซ้ำการนั่งห่างจากถุงลมนิรภัยใกล้กว่า 25 ซม เมื่อมันระเบิดออกมา แรงกระแทกจากถุงลมนิรภัยก็สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงต่อเด็กได้

ถุงลมนิรภัยจะระเบิดกางออกโดยปฏิกิริยาเคมีก่อให้เกิดก๊าซไนโตรเจน (30-100 ลิตรแล้วแต่รุ่น) อย่างรวดเร็วในเวลา 1/20 วินาที ผู้โดยสารจะได้รับความปลอดภัยเสริมจากถุงลมต่อเมื่อนั่งห่างถุงลมอย่างน้อย 25 ซม เท่านั้น หากนั่งใกล้กว่านี้ จะเกิดอันตรายจากการกระแทกของถุงลมเอง โดยเฉพาะในเด็กที่นั่งตักแม่ทำให้เด็กอยู่ห่างจากระยะระเบิดของถุงลมน้อยเกินไป มีรายงานการเสียชีวิตจากถุงลมในอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงกว่าสองร้อยราย ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นเด็กน้อยกว่าสิบสองปี และการบาดเจ็บของสมองเป็นสาเหตุหลัก

มีรายงานโดยศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐ (Center for Disease Control) ถึงการตายของเด็กอายุ 3 สัปดาห์ – 12 ปีที่เกิดจากถุงลมนิรภัย และการศึกษาที่ประเทศกรีกในเด็ก 129 รายอายุ 0-11 ปีที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์โดยนั่งด้านหน้าและไม่ได้ใช้ที่นั่งนิรภัย พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บมากกว่ากลุ่มที่นั่งด้านหลังและไม่ได้ใช้ที่นั่งนิรภัยเช่นกันถึง 5 เท่าตัว เบาะหลังจึงเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี

สำหรับเด็กนั้นจะใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถยนต์ได้เหมาะสมปลอดภัยก็ต่อเมื่อ …มีอายุ 9 ปีขึ้นไป  หรือ  มีน้ำหนักมากกว่า 30 กก หรือความสูงตั้งแต่ 140 ซ.ม. ขึ้นไป…เท่านั้น มิฉะนั้นเข็มขัดนิรภัย อาจกลายเป็นตัวการทำอันตรายต่อเด็กๆอย่างรุนแรง แต่ในพรบ จราจรของบ้านเรากำหนดไว้ในมาตรา 123 ว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่ รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์ ซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับ ที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัย

หากเด็กอายุน้อยกว่า  9 ปี หรือ  สูงน้อยกว่า  140 ซม.  แทนที่เข็มขัดนิรภัยสายล่างจะพาดบนหน้าตัก  และ แนบบริเวณเชิงกราน แต่กลับมารัดตรงท้องน้อย สายบนแทนที่จะพาดที่หน้าอก  และ  ไหล่  ก็กลับมารัดที่ลำคอของเด็ก ดังนั้น  หากรถเบรกหรือชนอย่างกะทันหัน เข็มขัดจะทำอันตรายแก่ อวัยวะภายในช่องท้องและลำคอของเด็กได้

  1. หากลูกของเรามีอายุไม่เกิน 9  ปี  “ที่นั่งหรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก” จะช่วยปกป้องความชีวิตของเด็กๆ National Highway Traffic Safety Administration ของสหรัฐได้ทำการศึกษาและพบว่า ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กนี้จะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกถึงร้อยละ 69 และเด็ก1-4 ปี ร้อยละ 47 ขณะเดียวกันจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุมากกว่า 5 ปีได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงร้อยละ 50
  2. สำหรับทารกที่อายุน้อยกว่า 1ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับทารก (Car Seat) และต้องจัดวางที่นั่งนิรภัย ที่เบาะหลัง โดยหันหน้าไปทางด้านหลังรถเท่านั้น เพื่อลดโอกาสความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกต้นคอหักจากการสะบัดของศีรษะเมื่อเกิดการชนหรือเบรครุนแรง
  3. เด็กอายุ 1-3ปี ให้พยายามใช้ที่นั่งนิรภัยที่เบาะหลัง โดยหันหน้าไปทางด้านหลังรถตราบเท่าที่ตัวเด็กไม่สูงเกินที่นั่งนิรภัย หรือน้ำหนักไม่เกินตามที่บริษัทกำหนดไว้ หากเด็กตัวโตเกินกว่าข้อกำหนดที่นั่งนิรภัยแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็กซึ่งจะหันหน้าไปทางด้านหน้ารถตามปรกติ แต่ยังคงใช้ที่เบาะหลังเท่านั้น
  4. เด็กอายุ 4-7ปี ให้ใช้ที่นั่งสำหรับเด็กเล็กต่อไปจนตัวสูงหรือน้ำหนักเกินกว่าข้อกำหนดของที่นั่งนิรภัยที่ใช้ จึงเปลี้ยนมาเป็นที่นั่งเสริม (booster seat) ซึ่งจะราคาประหยัด ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในตัว ใช้เข็มขัดนิรภัยรถยนต์เป็นอุปกรณ์ยึดเหนี่ยว เด็กวัยนี้ยังคงต้องนั่งเบาะหลังเท่านั้น
  5. เด็กอายุ 8-12ปี ควรใช้ที่นั่งเสริม (booster seat) จนกว่าสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี โดยทั่วไปควรจะต้องมีอายุมากกว่า 9 ปี ขึ้นไป
  6. เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เด็กที่อายุน้อยกว่า 12ปีต้องนั่งเบาะหลังเท่านั้น
  7. ในกรณีรถปิกอัพ ห้ามมิให้เมีผู้โดยสารในกะบะหลัง โดยเพาะอย่างยิ่งเด็กโดยเด็ดขาด ผู้โดยสารในกะบะหลังมีความเสี่ยงมากกว่าผู้นั่งในรถ 3เท่าตัว เด็กที่นั่งในรถปิกอัพต้องใช้ที่นั่งนิรภัยเหมือนกัน แต่ให้ใช้กับที่นั่งตอนหน้าโดยหันหน้าตามปรกติและต้องไม่มีถุงลมข้างคนขับ (หรือมีแต่สามารถปิดการทำงานได้)

สำหรับรถจักรยานยนต์นั้น   จะเป็นเหตุให้เด็กสียชีวิต และบาดเจ็บรุนแรงมากกว่ารถยนต์ประมาณ 6.5 เท่าตัวตามพรบ จราจร มาตรา 122 ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ ต้องสวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันอันตรายในขณะขับขี่และโดยสาร เด็กทุกวัยไม่ได้รับการยกเว้น ยกเว้นไว้แต่ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช หรือผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่นใดที่ใช้ผ้าโพกศีรษะตามประเพณีนิยมนั้น ดังนั้นเด็กทุกวัยจึงต้องสวมหมวกนิรภัยเมื่อโดยสารรถจักรยานยนต์ ขณะนี้มีหมวกที่ผ่านมาตรฐานสำหรับเด็กอยู่สามขนาด ขนาดเล็กใช้กับเด็กสองึงสี่ปี ขนาดกลางใช้กับเด็กสี่ถึงแปดปี ขนาดใหญ่ใช้กับเด็กแปดปีขึ้นไป เรียกว่าสามใบในหนึ่งชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม กองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ) ตรวจสอบพบว่า หมวกนิรภัยเด็กบางยี่ห้อที่มี มอก แต่ผลิตออกมาคุณภาพต่ำไม่ปกป้องสมองเด็ดตามที่ควรจะเป็น ได้ดำเนินการกวาดล้างครั้งใหญ่ไปแล้ว และจะดำเนินการต่อไป ในโอกาสที่รัฐบาลมีโครงการแจกหมวกหนึ่งแสนใบ เพื่อให้ผู้ผลิตที่มีจิตใจอำมหิตต่อเด็กๆเหล่านี้ไม่ได้ประโยชน์จากการจัดซื้อของรัฐบาลต่อไป

กอดลูก ให้นั่งตัก = รักลูกผิดทาง >> เมื่อรถท่านมีถุงลมนิรภัย รักลูกอย่ากอด…ใช้ที่นั่งนิรภัย


สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับคาร์ซีทเพิ่มเติมได้จากผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาและแนะนำได้อย่างถูกต้อง

หรือช่องทางออนไลน์ :

สินค้าที่เกี่ยวข้อง