แม่ท้อง…เตรียมเต้านมให้พร้อมหรือยัง?

ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกท่าน ที่กำลังนับวันรอคอยได้เห็นหน้าลูกน้อย เชื่อว่าคุณแม่คงจะวางแผนและตั้งใจจะให้นมแม่แก่ลูกน้อยทันทีหลังคลอดทุกคน และน่าจะเตรียมของใช้สำหรับการเลี้ยงลูกน้อย บางคนอาจจะมองหาเครื่องปั๊มนม และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการให้นมแม่กันบ้างแล้วด้วย…จริงไหมคะ?

แต่นอกจากการเตรียมของใช้เพื่อให้นมแม่แล้ว  คุณแม่ต้องไม่ลืมหันกลับมาสำรวจร่างกาย ด้วยการเช็กสุขภาพเต้านมและหัวนม ว่าพร้อมให้นมแม่ได้ทันทีหลังคลอดหรือไม่? มีส่วนไหนผิดปกติหรือมีปัญหาจนเป็นอุปสรรคในการให้นมแม่หรือเปล่า?  เราจึงชวนคุณแม่ตั้งครรภ์มาเรียนรู้วิธีตรวจเช็กหัวนมและเต้านม พร้อมแนะนำข้อมูลในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้คุณแม่พร้อมให้นมลูกน้อยได้เต็มที่ทันทีหลังคลอดค่ะ

ชวนแม่ท้อง…ตรวจหัวนมและเต้านมด้วยตัวเอง

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรตรวจลักษณะของเต้านมและหัวนมของตัวเอง เพื่อเช็กความผิดปกติของหัวนม ซึ่งบางครั้งคุณแม่อาจจะไม่ได้เคยสังเกตหรือรู้ว่าก่อนว่าลักษณะหัวนมของตัวเอง อาจมีปัญหาที่ส่งผลต่อการให้นมลูกน้อยได้ เช่น  หัวนมบอด หัวนมสั้น  หัวนมแบน หัวนมบุ๋ม รวมถึงหัวนมใหญ่ ซึ่งลักษณะหัวนมเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ และยิ่งคุณแม่แก้ไขได้เร็วเท่าไร ลูกน้อยก็จะได้รับคุณค่าจากนมแม่ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น  ฉะนั้นมาสังเกตดูกันว่า หัวนมของคุณแม่เป็นแบบไหน และแบบไหนที่ผิดปกติ

รู้ได้อย่างไรว่าหัวนมผิดปกติ

คุณแม่สามารถตรวจสอบและสังเกตหัวนมได้ด้วยตัวเองว่าปกติหรือไม่  แบบไหนหัวนมสั้น หัวนมบอด เพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีให้ได้ก่อนคลอดลูกน้อย  ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่

1) ดูขนาดของหัวนมและเต้านม โดยมองด้วยตาเปล่าและสัมผัสคลำเพื่อสำรวจว่า มีก้อนผิดปกติในเต้านมหรือไม่ เต้านมดูไม่บิดเบี้ยว หัวนมไม่แตกเป็นรอยแยก มีหัวนมแบนราบหรือบุ๋มลงไปหรือเปล่า

2) Pinch Test คือการวางหัวแม่มือและนิ้วชี้ของคุณแม่ไว้ที่ฐานของหัวนมใกล้กับขอบลานนม จากนั้นค่อยๆ กดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าหากันเพื่อบีบหัวนมเบาๆ

  • หัวนมปกติ           หัวนมของคุณแม่จะยื่นออกมาจากลานนมปกติ ประมาณ 1 ซม.
  • หัวนมสั้น             หัวนมจะอยู่กับที่หรือเคลื่อนเล็กน้อย  พบได้ค่อนข้างมาก
  • หัวนมบอด           หัวนมของคุณแม่จะหดตัวกลับและจมลงไป  พบได้น้อย

2.1) Waller’s Test การวางมือบนเต้านมให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้คุณแม่ วางราบไปกับผิวหนัง ให้นิ้วทั้งสองนั้นอยู่ชิดหัวนมตรงรอยต่อระหว่างหัวนมและลานหัวนม จากนั้นกดนิ้วทั้งสองเข้าหากัน เป็นการเลียนแบบการดูดนมตามธรรมชาติของลูก ซึ่งหากคุณแม่จับหัวนมได้ แสดงว่าลูกน้อยสามารถดูดนมแม่ได้ แต่ถ้าหัวนมผลุบลงไปจับไม่ติด แสดงว่าหัวนมแบนราบเกินไปหรือหัวนมบุ๋ม จะทำให้ลูกดูดนมแม่ไม่ได้

3) วัดความยาวของหัวนม ว่าหัวนมของคุณแม่ที่ยื่นออกมานั้นมีขนาดความยาวมากน้อยเท่าใด เช่น

  • หัวนมปกติ – หัวนมยาวประมาณ 0.7-1 ซม.
  • หัวนมสั้น  – หัวนมยาวประมาณ 0.1- 0.6 ซม. เท่านั้น
  • หัวนมบอดหรือบุ๋ม – หัวนมจะไม่ยื่นออกมา หรือบุ๋มลงไป

(รูปจากเว็บไซต์ รพ.สินแพทย์)

               ข้อควรระวัง : ไม่ควรกระตุ้นด้วยการนวดจับหรือสัมผัสเต้านมและหัวนมนานเกินไป นอกจากนี้หากเต้านมหรือหัวนมคุณแม่มีปัญหา ควรเริ่มเมื่ออายุครรภ์ 14 สัปดาห์ไปแล้ว  เนื่องจากมีการกระตุ้นที่อาจทำให้มดลูกบีบรัดตัว จนแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดเป็นอันตรายได้  ดังนั้นหากคุณแม่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด ไม่แนะนำให้บีบนวดเต้านมด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

4) หัวนมผิดปกติ แก้ไขอย่างไรก่อนคลอด 

หากคุณแม่ตรวจพบว่าหัวนมของตัวเองนั้นมีความผิดปกติ เช่น มีหัวนมสั้น หรือหัวนมบอด สามารถทำการแก้ไขก่อนคลอดได้ ด้วยวิธีการต่างๆ นั่นคือ

  • แก้ไขหัวนมสั้น คุณแม่สามารถนวดคลึงและดึงหัวนมได้ด้วยตัวเอง ตามวิธีดังนี้คือ
    • nipple rolling จับด้านข้างของหัวนมตรงส่วนที่ติดกับลานนมด้วยนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ คลึงเบาๆไปมา พร้อมกับจับหัวนมดึงยืดออกมาเล็กน้อยแล้วปล่อย ทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง วันละ 2 ครั้ง
    • Hoffmann’s maneuver ได้ วางนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างให้ชิดโคนหัวนม จากนั้นกดนิ้วและดึงแยกออกจากกันไป ทางด้านข้างทั้งสองทางเบาๆ  ทำทั้งจากด้านข้าง ด้านทิศบนและล่างให้รอบบริเวณหัวนม ทำซ้ำ 10-20 ครั้งต่อข้างหลังอาบน้ำ
    • ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ปทุมแก้ว (Breast Shell หรือ Breast Cup) ใช้ปทุมแก้วครอบให้หัวนมอยู่ตรงกลางรูของฐานปทุมแก้ว หัวนมจะยื่นขึ้นมาที่ขอบรูและส่วนปทุมแก้วที่นาบกับลานหัวนม โดยใส่ไว้ใต้เสื้อชั้นในเฉพาะเวลากลางวันหลังอาบน้ำ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ วันละ 2-3 ชั่วโมง อาจใช้ประมาณ 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน
  • แก้ไขหัวนมบอด หากคุณแม่มีหัวนมบอดควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาใช้เอง เพื่อการเลือกใช้อุปกรณ์ดึงหัวนมได้ถูกต้อง เหมาะสมและปลอดภัย เพราะหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้หัวนมและลานนมของคุณแม่แตกเป็นแผลอัหกเสบได้  โดยอุปกรณ์ที่ช่วยดึงหัวนมแม่ได้ มีดังนี้
    • Nipple puller ด้วยการใช้นิ้วมือคุณแม่บีบกระเปาะยางแล้วไปครอบหัวนม จากนั้นปล่อยนิ้วที่บีบกระเปาะเบาๆ  ใช้วิธีนี้ดึงหัวนมบ่อยๆ ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ครั้งละ 10 นาที
    • Syringe puller โดยนำไซริงค์มาดูดบริเวณหัวนม วิธีการคือดึงลูกสูบขึ้นประมาณ 1/3 ของกระบอก แล้วนำด้านที่มีปีกมาครอบหัวนมให้สนิท ดึงลูกสูบช้าๆ จนเห็นหัวนมยื่นยาวออกมา

               ข้อควรระวัง : หากทำแล้วมีอาการท้องแข็ง เกิดการหดรัดตัวของมดลูก รวมถึงหัวนมแตกเป็นแผลให้หยุดการทำ  และไม่แนะนำให้คุณแม่ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดแก้ไขหัวนมด้วยตัวเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

สุดท้ายนี้เพื่อให้คุณแม่มีเต้านมที่พร้อมสำหรับการให้นมลูกน้อยหลังคลอด แนะนำว่าในระหว่างการฝากท้อง ได้พบคุณหมอ คุณแม่ควรสอบถาม หรือปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับเต้านมและหัวนมไว้ล่วงหน้า โดยอาจจะให้คุณหมอตรวจประเมินหัวนมด้วย  เพื่อจะได้รับทราบปัญหา แก้ไขและดูแลตั้งแต่ก่อนคลอด เพื่อให้คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างไม่มีอุปสรรคหลังคลอดทันทีนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code