แม่ท้องกินนมมาก ลูกอาจเสี่ยงแพ้นมวัวจริงหรือ?

ในความคิดหรือความเชื่อของคุณแม่ตั้งครรภ์หลายๆ ท่าน ยังมีความคิดและดูจากโฆษณาต่างๆ จนทำให้เชื่อว่า ตอนท้องแม่ต้องดื่มนมมากๆ  เพื่อบำรุงให้แม่และลูกแข็งแรง  ซึ่งความจริงแล้วข้อมูลนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ เพราะเรื่องของการกินอาหารและกินนมของแม่ท้องนั้น วิธีที่ดีและถูกต้องที่สุดคือกินอย่างเหมาะสม หลากหลายไม่ซ้ำและกินมากจนเกินไป

โดยเฉพาะเรื่องการกินนมในแม่ท้อง ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะมีข้อมูลออกมาบอกว่า การที่คุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มนมวัวมากเกินไป จะเป็นสาเหตุให้ลูกแพ้นมวัวได้ตั้งแต่แรกเกิด  เราจึงขอนำความรู้ดีๆ เกี่ยวกับโภชนาการและการกินนมวัวมาอธิบายให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้เข้าใจ เพื่อให้กินอาหารและดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมมาฝากค่ะ

แม่ท้องกินนมวัวมาก ลูกอาจแพ้ได้จริงหรือ?

ข้อมูลนี้เป็นความจริงค่ะ เพราะการที่ร่างกายคุณแม่ได้รับสารอาหารอะไรมากจนเกินไป จะสามารถกระตุ้นให้ลูกน้อยมีอาการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ ได้ตั้งแต่หลังคลอด  นั่นคือนมวัวที่กินมากไปนั้น จะไปทำให้เกิดการสะสมของแคลเซียมและโปรตีนนมวัว  เป็นหนึ่งในสารก่อภูมิแพ้ที่ส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ จนกระตุ้นให้เกิดการแพ้  โดยจะมีอาการแสดงของการแพ้นมวัวได้แก่

  • อาการทางผิวหนัง เป็นผื่น ลมพิษ ผื่นแพ้บริเวณผิวหนัง
  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด ขับถ่ายผิดปกติ
  • อาการทางระบบหายใจ เช่น หายใจมีเสียงดังวี้ด หายใจไม่ออก มีเสมหะเรื้อรัง

ซึ่งปกติแล้วการที่ลูกน้อยจะแพ้นมวัว แพ้อาหาร หรือเป็นภูมิแพ้ได้นั้น สาเหตุใหญ่หลักๆ คือ

  1. จากพันธุกรรม คือการที่ครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้ หรือแพ้อาหาร มีคุณพ่อคุณแม่ป่วยเป็นภูมิแพ้ แพ้อาหารต่างๆ เป็นหอบหืด รวมถึงประวัติของพี่น้องและญาติ
  2. การกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น ได้รับควันบุหรี่ ควันพิษ สารพิษ ละอองเกสร ขนสัตว์ แมลง และอื่นๆ กรณีนี้จะสังเกตได้ในผู้ใหญาบางคนที่ไม่เคยเป็นภูมิแพ้เลยตั้งแต่เด็ก และมาเป็นตอนทำงาน ตอนเรียน ที่ต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีสารกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ได้
  3. การที่ลูกได้รับนมวัวตั้งแต่แรกเกิด หรือคุณแม่ดื่มนมวัวปริมาณมากทุกวันในช่วงที่ให้นมแม่กับลูก เพราะโปรตีนที่ลูกได้รับจากนมวัวที่คุณแม่กินเข้าไปมากๆ จะสามารถผ่านไปทางน้ำนม กระตุ้นให้ลูกน้อยมีอาการแพ้นมวัวได้ด้วย
  4. ลูกน้อยได้รับการกระตุ้นจากการรับประทานอาหารของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น จากความคิดของคุณแม่หลายๆ ท่านที่เชื่อว่าในช่วงท้อง ยิ่งต้องบำรุงด้วยนมวัวมากๆ คือจากที่ปกติก่อนตั้งครรภ์เคยดื่มสัปดาห์ละ 2 แก้ว หรือวันละ 1 แก้ว แต่พอท้องกลับดื่มนมวันละเป็นลิตร  ซึ่งการดื่มนมมากเกินกว่าปกติที่เคยกิน จะส่งผลกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้นมวัวได้นั่นเอง

นอกจากนี้ยังไม่รวมกับโปรตีนในนมวัวที่คุณแม่ได้รับจากอาหารอื่นๆ ที่แฝงไปด้วยนมอีก เช่น เบเกอรี่ ไอศกรีม เนย ชีส  ยิ่งทำให้คุณแม่ได้รับโปรตีนจากนมวัวมากเกินไป ทำให้ลูกน้อยแพ้นมวัวได้ตั้งแต่หลังคลอด

นมอะไร? ที่คุณแม่ท้องดื่มได้บ้าง

  • นมวัว   ยังคงเป็นนมที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถดื่มได้ เพราะมีโปรตีนและแคลเซียมที่สำคัญและจำเป็นสำหรับสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยในท้อง แต่ไม่ควรดื่มในปริมาณมากเกินไป ควรดื่มแค่ปริมาณที่เคยดื่มก่อนตั้งครรภ์ หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ พร้อมกับเลือกดื่มนมอื่นๆ สลับไปด้วย

โดยนมวัวที่คุณแม่ดื่มได้ในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ ซึ่งนมสำหรับแม่ท้องที่แนะนำคือ นมนมสดพาสเจอไรส์ชนิดพร่องมันเนย เพราะได้คุณค่าสารอาหารที่ต้องการโดยที่ตัวแม่ตั้งครรภ์ไม่ต้องรับไขมันมากเกินไป แต่ข้อเสียคือนมชนิดนี้อายุสั้น เก็บไว้ได้ไม่นาน  กรณีที่คุณแม่ดื่มนมชนิดนี้ไม่ได้ก็อาจเลือกนมชนิดอื่นแทน เช่น นมสดยูเอชที นมสดพร่องมันเนย นมสดสเตอริไรซ์ สลับกับโยเกิร์ต โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกคือ เลือกพิจารณาถึงปริมาณสารอาหาร โดยเฉพาะแคลเซียม(ข้างกล่อง) เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอมากที่สุดค่ะ

  • นมแพะ  นมแกะ  หากคุณแม่สามารถดื่มได้ ก็เป็นนมที่แม่ท้องกินได้เหมือนนมวัว แต่ข้อควรระวังจะเหมือนกันคือ ไม่ดื่มในปริมาณมากเกินไป กินซ้ำๆ ทุกวันเป็นประจำ เพราะนมแพะ นมแกะ ก็มีโปรตีนที่เหมือนกับนมวัว และสามารถกระตุ้นให้ลูกน้อยมีอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน 
  • นมจากถั่วเหลือง เป็นนมที่คุณแม่สามารถกินได้ เพราะมีแคลเซียมสูง พร้อมโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ  แต่มีคุณแม่หลายท่าน กลัวลูกแพ้นมวัวจนไม่กล้ากินนมวัว และถามว่ากินนมถั่วเหลืองมากๆ แทนได้ไหม? ตอบว่าก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะลูกก็ยังมีโอกาสแพ้ถั่วเหลืองได้เช่นเดียวกับนมวัว  ดังนั้นเวลาคุณแม่ดื่มนมถั่วเหลือง ก็ไม่ควรดื่มมากเป็นประจำ ควรกินสลับกับนมอื่นๆ บ้างในบางครั้งเท่านั้นก็เพียงพอ
  • นมทางเลือกอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็น นมถั่วชนิดต่างๆ  นมอัลมอนด์ นมวอลนัต น้ำนมข้าว นมข้างโพด นมธัญพืช ก็เป็นนมที่คุณแม่สามารถดื่มได้เช่นกัน แต่ก็ควรจะสลับกันดื่มให้หลากหลาย ไม่กินซ้ำๆ ทุกวัน หรือกินครั้งละมากๆ

หากแม่ไม่แพ้ ไม่ต้องงด

* คุณแม่ไม่จำเป็นต้องงดอาการกลุ่มเสี่ยงต่อการแพ้ต่างๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี ถั่วลิสง หรืออาหารทะเล เพียงเพราะกลัวว่าลูกจะแพ้  ยกเว้นกรณีคุณแม่แพ้อาหารเหล่านั้นจึงควรงด  ฉะนั้นหากแม่กินได้ไม่แพ้ ก็สามารถทานอาหารต่างๆ ต่อไป  เพราะหากคุณแม่งดกินอาหารเหล่านี้ อาจทำให้ร่างกายของแม่และลูกน้อยขาดสารอาหารสำคัญบางชนิด จนส่งผลเสียต่อสุขภาพลูกน้อยในอนาคต

กินนมแค่ไหน ดีต่อสุขภาพแม่และลูกเบบี๋ในท้อง

โภชนาการที่ดีและเหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สุด คือ การกินอาหารให้หลากหลายครบถ้วน 5 หมู่ ไม่จำเจ ไม่ซ้ำซาก ดังนั้นคุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องดื่มนมทุกวัน หรือตั้งเป็นกฎว่าต้องกินวันละ 1 กล่อง เพราะโปรตีน แคลเซียมและสารอาหารสำคัญมีอยู่ในอาหารอื่นๆ ทั้งเนื้อสัตสว์ และผัก ผลไม้มากมาย รวมถึงในอาหารอื่นๆ ที่แฝงผลิตภัณฑ์จากนมวัวไว้ในปริมาณมากอย่างที่คุณแม่คาดไม่ถึง เช่น  ไอศครีม 1 แกลลอน ทำจากนม 6 แกลลอน ส่วนชีส 1 กิโลกรัมนั้นทำจากนมถึง 10 ลิตร

โดยอาหารที่แนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพื่อลดความเสี่ยงความผิดปกติของสมองและไขสันหลังให้ลูกน้อย คืออาหารที่มีโฟลิค เช่น ตับ ไข่แดง ผักสีเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง หรือ โฟลิคเม็ดที่ได้จากคุณหมอ ฉะนั้นช่วงนี้ยังไม่ต้องการแคลอรี่และแคลเซียมเพิ่มขึ้นมากนัก จึงอาจไม่ต้องกินนมให้มาก  พอตั้งครรภ์ 6 เดือนหลัง ร่างกายคุณแม่จะต้องการแคลอรี่เพิ่มขึ้นจาก 2,000 เป็น 2,500 กิโลแคลอรี่/วัน(แคลอรี่เพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรี่ ก็เทียบเท่ากับก๋วยเตี๋ยว หรือ อาหารจานเดียวเพิ่มขึ้นอีก 1 ชาม/วันเท่านั้น)  ต้องการแคลเซียมเพิ่มขึ้นจาก 1,000 เป็น 1,200 มก./วัน

ฉะนั้นคุณแม่จะกินนมวัวนม หรือนมถั่วเหลือง แค่สัปดาห์ละ 2-3 แก้วก็ได้ หรือจะสลับดื่มนมต่างๆ ไม่เกินวันละ 2 แก้วก็ได้  ไม่ต้องเน้นกินอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนเกินไป กินแคลเซียมธรรมชาติจากผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดพืช ให้หลากหลาย หรืองาดำแทน รวมถึงแคลเซียมเม็ดที่คุณหมอสูติให้ก็เพียงพอแล้ว  แต่ถ้าคุณแม่กินอาหารอื่นๆเพิ่มเข้าไปอีก ก็จะได้แคลอรี่ส่วนเกิน ปัญหาที่ตามมาคือ น้ำหนักคุณแม่จะขึ้นมากเกินไป ควบคุมไม่ได้ และหากกินนมวัวมากเกินไป นอกจากน้ำหนักที่เพิ่มมากไป ยังเป็นสาเหตุให้ลูกแพ้นมวัวหลังคลอดได้อีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code