เมื่อแม่ท้องปวดเมื่อย ไปนวดได้ไหม อันตรายหรือเปล่า?

เมื่อแม่ท้องปวดเมื่อย ไปนวดได้ไหม อันตรายหรือเปล่า?

            สารพันอาการปวดเมื่อย เป็นเรื่องธรรมดาที่มักเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ร่างกายมีการปรับเปลี่ยน ร่วมกับการรับน้ำหนักท้องที่ใหญ่ มดลูกที่ขยายและน้ำหนักตัวลูกน้อย ทำให้คุณแม่ท้องมีอาการปวดขา ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดเท้าต่างๆ ร่วมกับการปวดเมื่อยเนื้อตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน จนทำให้ปวดคอ ปวดบ่าไหล่กันได้อีก

ด้วยความปวดเมื่อยหลายส่วนของแม่ท้องนี้ จึงทำให้คุณแม่หลายท่านคิดจะไปนวดเพื่อให้หายเมื่อยและผ่อนคลาย  โดยอาจไม่รู้ว่าการนวดในช่วงตั้งครรภ์ มีข้อจำกัดและยกเว้นในบางเรื่อง ซึ่งหากคุณแม่ไปนวดโดยไม่ศึกษาหาข้อมูลหรือปรึกษาแพทย์ก่อน อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งคุณแม่และลูกน้อย  ฉะนั้น…เพื่อคลายข้อข้องใจ เราจึงมาอธิบายเบื้องต้นให้คุณแม่ได้รู้ว่า แม่องจะนวดได้ไหม และการนวดแบบไหนเป็นข้อห้ามกันบ้าง

แม่ท้อง นวดอะไรได้แค่ไหน? อาการปวดเมื่อยต่างๆ กับคุณแม่ตั้งครรภ์คือของคู่กัน เพราะร่างกายที่เปลี่ยนไป การต้องแบกรักน้ำหนักท้อง โดยต้องยืนแอ่นหลังเพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้ จึงทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณหลัง และทำให้ขา ข้อเข่า และข้อเท้าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ปวดขา ปวดน่อง โดยเฉพาะคุณแม่ท้องที่ต้องยืนนานๆ นอกจากนี้หากคุณแม่มีอาการปวดเมื่อยจากโรคข้อและกล้ามเนื้ออยู่แล้ว ในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นได้  นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่อยากนวด

แม่ท้องนวด มีทั้งประโยชน์และโทษพร้อมกัน

เนื่องจากมีข้อมูลจากการศึกษาอยู่จำนวนหนึ่งที่บอกถึงประโยชน์ของการนวดในคุณแม่ตั้งครรภ์ นั่นคือ การนวดช่วยลดความปวดเมื่อย ลดอาการบวม ตะคริว ปวดศีรษะ คลายความเครียด ทำให้หลับสบาย หลับง่ายขึ้น และอารมณ์ดีขึ้น

แต่การนวดในคุณแม่ตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงต่ออันตรายและข้อห้ามมากมายด้วยเช่นกัน เพราะการนวดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่ท้องเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ตัวอย่างจากข่าวของคุณแม่ตั้งครรภ์จังหวัดเชียงใหม่ที่ไปนวดฝ่าเท้าจนเสียชีวิตทั้งแม่และลูก

ดังนั้นการนวดตัวสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ต้องไม่เป็นการนวดไทยแบบทั่วๆ ไป ควรเป็นการนวดผ่อนคลาย และมีการปรับเปลี่ยนต่างๆ อาทิ

  • ต้องเป็นการนวดเฉพาะเจาะจงสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกฝน และเข้าใจในความปลอดภัยของคุณแม่
  • ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการนวดทั่วไป รวมถึงเปลี่ยนการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ปรับเตียง ที่นอน หมอนที่ใช้ การลงน้ำหนัก รวมไปถึงเทคนิคต่างๆในการนวด
  • ไม่นวดกดแรงจนคุณแม่รู้สึกเจ็บ หรือเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยต้องนวดอย่างเบามือที่สุด
  • ควรเป็นการนวดเฉพาะส่วนเท่านั้น เช่น นวดแขน นวดบ่า นวดไหล่ หรือนวดหลังในบางบริเวณเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
  • ควรให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนในท่านอนตะแคงข้าง
  • ควรมีระยะเวลาการนวดที่เหมาะสม  ไม่ให้คุณแม่นั่งหรือนอนนานเกินไป

นวดแบบไหน ห้าม!ในแม่ท้อง

    •  ไม่นวดไทย  นวดดัดตัว นวดกดจุด

เพราะการนวดดัดตัว ดัดแขน ดัดขา ต้องเปลี่ยนท่า ยืดหดกล้ามเนื้อหน้าท้องและส่วนอื่นๆ  จะส่งผลทำให้เกิดอันตรายกับคุณแม่และลูกน้อยในท้อง เนื่องจากจะไปกระตุ้นให้มีอาการต่างๆ ไม่พึงประสงค์ได้ ทั้งอาการแท้ง คลอดก่อนกำหนด อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก และส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดในร่างกายอีกด้วย

    • ไม่นวดท้อง

เนื่องจากท้องคุณแม่ที่มีลูกน้อยอยู่ในครรภ์ เป็นจุดรวมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย ฉะนั้นการนวดบริเวณท้อง จะทำให้เกิดการกระตุ้นและกระทบกระเทือนต่อลูกน้อยในครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์ จนเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งคู่

    •  ไม่นวดเท้า โดยเฉพาะฝ่าเท้า

เพราะบริเวณเท้าและฝ่าเท้า เป็นจุดศูนย์รวมที่สำคัญของเส้นประสาทเกือบทั้งหมดในร่างกาย รวมถึงมดลูกด้วย ฉะนั้นหากคุณแม่ไปนวดฝ่าเท้า จะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงท้องและมดลูก กระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก เสี่ยงต่อการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด และการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้  ดังนั้นควรเลี่ยงและงดการนวดฝ่าเท้า แต่หากคุณแม่เมื่อยล้าเท้ามาก อาจใช้วิธีแช่เท้าในน้ำอุ่น หรือนอนหนุนเท้าให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลเวียนและไหลย้อนได้ดีขึ้น

    • ไม่นวดขา หรือนวดเค้นน่อง

ในช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์มดลูกจะมีการขยายใหญ่ขึ้น จนไปกดเส้นเลือดในท้อง ที่มีส่วนต่อเนื่องไปยังน่อง และขา ทำให้คุณแม่อาจมีเลือดตกค้างอยู่ในส่วนต่างๆ  จนไหลเวียนไม่สะดวก หรืออาจมีลิ่มเลือดในเส้นเลือด  ซึ่งหากคุณแม่ไปนวดเค้นที่น่องหรือขา อาจทำให้เกิดปัญหาลิ่มเลือดหลุดและไปอุดตันอวัยวะสำคัญจนเป็นอันตรายได้

คุณแม่หลายท่านมีปัญหาเส้นเลือดขอดที่น่อง หากไปนวดลงน้ำหนักที่บริเวณน่องและขาอีก  ก็อาจทำให้ลิ่มเลือดที่แข็งตัวหลุดออกไปอุดตันเส้นเลือดในร่างกายได้เช่นกัน  ดังนั้นหากคนนวดที่มีความรู้ผ่านการฝึกฝนเกี่ยวกับการนวดคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมักหลีกเลี่ยงหรืองดการนวดกดบริเวณเท้า ข้อเท้า ข้อมือ น่อง เพราะนอกจากเสี่ยงต่อการมีลิ่มเลือดอุดตันแล้วยังอาจไปกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกและกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานได้อีกด้วย

ข้อแนะนำ การนวดในช่วงตั้งครรภ์  ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ท้องจะมีความเสี่ยงต่างๆ ที่จะกระทบกระเทือนต่อสุขภาพได้ง่าย ฉะนั้นหากคุณแม่ต้องการนวด หรือสนใจที่จะนวด ควรเรียนรู้ข้อควรระมัดระวังที่สำคัญได้แก่

    • คุณแม่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว  จนมีอาการแท้งได้
    • คุณแม่ตั้งครรภ์อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป ไม่ควรนวด เพราะการนวดอาจไปกระตุ้นให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด หรือเกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
    • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องมาก มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร มีประวัติแท้งบุตร เคยมีภาวะแท้งคุกคาม  มีเส้นเลือดขอด  มีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด  มีภาวะความดันโลหิตสูง ไม่ควรนวด
    • คุณแม่ควรเลือกสถานที่นวด โดยต้องมั่นใจในมาตรฐานของร้านนวด คนนวด สถานที่ กลิ่น บรรยากาศ และอุปกรณ์การนวด ว่าผ่านการฝึกฝนเฉพาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ มีความรู้ความเข้มใจ สะอาด ปลอดภัยแท้จริง และได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข
    • คุณแม่ควรปรึกษาสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์  เกี่ยวกับข้อห้าม ข้อควรระวัง หรือคำแนะนำว่าสามารถนวดแบบไหนได้
    • รวมถึงรู้ความเสี่ยงต่างๆ ของการตั้งครรภ์  เพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยไปจนถึงหลังคลอด
    • บางกรณีคุณหมอบางท่านอาจจะไม่แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์นวดเลย ซึ่งหากคุณแม่ได้รับข้อมูลให้งดนวด ก็ควรปฏิบัติตามจะดีที่สุดค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code