อุ่นนมแม่ อย่างไร? ให้ลูกได้สารอาหารครบถ้วน

อุ่นนมแม่

นมแม่ คืออาหารมหัศจรรย์ของลูกน้อย อุดมด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ครบถ้วนและเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกน้อย ซึ่งคุณค่าสารอาหารในนมแม่ สำคัญที่สุดต่อการช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกทุกด้าน ได้แก่

  • สารอาหารสร้างพัฒนาการสมอง ทั้ง ดีเอชเอ เอเอ  กรดไขมันจำเป็นโอเมก้า3 โอเมก้า 6 ทอรีนและอื่นๆ ที่ช่วยพัฒนาระบบประสาทและการทำงานของสมองลูกน้อย
  • สารอาหารเพื่อร่างกายลูกน้อยเติบโตแข็งแรง เพราะมีทั้งโปรตีนที่มีประโยชน์และย่อยง่าย  แคลเซียม ธาตุเหล็ก ไขมัน  คาร์โบไฮเดรต  growth factor และวิตามินที่จำเป็นต่างๆ อีกมากมาย เพื่อให้ลูกมีร่างกายสูงใหญ่ แข็งแรงสมวัยเสมอ
  • นมแม่มีสารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติให้ลูก เทียบเท่ากับวัคซีนเป็นพันเข็ม ซึ่งเป็นสารภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น  ช่วยลดภูมิแพ้ และป้องกันการติดเชื้อจากโรคภัยต่างๆ  ทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่เจ็บป่วยง่ายนั่นเอง
  • นมแม่ มีสารที่ช่วยในเรื่องระบบย่อยและฮอร์โมนต่างๆ  ช่วยให้ลูกขับถ่ายง่าย  อารมณ์ดี จิตใจแจ่มใส ยิ้มง่าย และยังได้รับความอบอุ่นปลอดภัย สร้างสายสัมพันธ์แห่งความผูกพันจากใจคุณแม่  ทำให้คุณหนูเลี้ยงง่าย อารมณ์ดีมีความสุข
อุ่นนมแม่

อุ่นนมแม่ให้ถูก ลูกได้คุณค่าเต็มที่

เมื่อรู้ว่านมแม่มีคุณค่ามหาศาลอย่างนี้แล้ว คุณแม่ต้องให้ลูกน้อยกินนมแม่ให้นานที่สุด  เพื่อให้ลูกได้รับคุณค่าน้ำนมให้มากที่สุด ด้วยการทำสต๊อกนมแม่เก็บไว้ให้ลูก และให้ความสำคัญกับการอุ่นนมแม่ที่แช่แข็งหรือทำสต๊อกไว้มาให้ลูกกินด้วย เพราะหากอุ่นนมแม่ไม่ถูกวิธี อาจทำให้ลูกเจ็บป่วยท้องเสีย แถมยังสูญเสียสารอาหารที่มีคุณค่าในนมแม่ไป   เราจึงขอแนะนำวิธีการอุ่นนมที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดมาฝากกันค่ะ

วิธี อุ่นนมแม่ จากช่องแช่แข็ง

  • นำนมแม่ในถุงเก็บน้ำนมที่แช่แข็งจากช่องฟรีซ ย้ายลงมาแช่ในช่องธรรมดาด้านล่าง เพื่อเตรียมก่อนจะใช้ 1 คืน  ให้นมแม่ค่อยๆ ละลายในวันรุ่งขึ้น  โดยนำนมเก่าที่คุณแม่ปั๊มเก็บไว้มาใช้ก่อนตามลำดับวัน เวลา ที่เขียนไว้หน้าถุงเก็บน้ำนม
  • เมื่อนมแม่ละลาย ให้แบ่งนมแม่ใส่ขวด ในปริมาณที่ลูกกินเฉพาะมื้อต่อมื้อเท่านั้น แล้วจึงค่อยนำมาอุ่น ซึ่งนมส่วนที่เหลือในช่องตู้เย็นธรรมดาจะสามารถเก็บให้ลูกกินได้อีก 2-3 วัน
  • ไม่ควรนำนมแช่เข็ง ออกมาวางปล่อยให้ละลายเองที่อุณหภูมิห้อง เพราะอาจทำให้คุณแม่ทิ้งไว้จนลืมเวลา หรือทิ้งไว้นานเกินไป จนทำให้นมแม่เสียได้
  • วิธีการอุ่นนมแม่ที่ดีและถูกต้องคือ นำนมแม่ไปแช่ไว้ในถ้วยหรือกะละมังเล็กๆ ที่ใส่น้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาอุณหภูมิห้อง  จนนมแม่หายเย็น
  • ห้ามอุ่นนมแม่ด้วยการนำไปใส่ไมโครเวฟ หรือแช่ในน้ำร้อน  นมแม่ควรผ่านความร้อนให้น้อยที่สุด เพราะความร้อนจะไปทำลายสารอาหารสำคัญในนมแม่ เช่น วิตามินบางตัว สารภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง และอื่นๆ  รวมทั้งน้ำนมอาจจะร้อนเกินไปจนลวกปากลูกน้อยได้
  • หลังนมละลาย อาจมีชั้นของไขมันนมลอยอยู่ด้านบน แยกกับส่วนที่เห็นเป็นน้ำ ให้คุณแม่ค่อยๆเขย่าหรือแกว่งเบาๆ ให้นมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันก่อนให้ลูกน้อยกิน
  • น้ำนมแช่แข็งที่ละลายแล้วอาจมีกลิ่นหืนนิดหน่อย แต่ไม่เสีย ลูกน้อยสามารถกินได้ไม่มีอันตราย
  • ถ้าลูกน้อย ไม่ปฏิเสธหรือยอมกินนมเย็นๆ ได้ อาจไม่ต้องนำมาแช่ในน้ำอุ่น โดยเมื่อนมแม่ละลายตัวเข้ากันในช่องแช่เย็นธรรมดาแล้ว ก็สามารถนำมาให้ลูกกินนมแบบเย็นๆ ได้ทันที
อุ่นนมแม่

ปัจจุบันมีเครื่องอุ่นนม ที่ช่วยอำนวยความสะดวกคุณแม่ในการละลายนมแม่แช่แข็ง ซึ่งมีการทำงานที่หลากหลายทั้งอุ่นนม ละลายน้ำแข็ง อุ่นอาหาร และฆ่าเชื้อได้  โดยคุณแม่ควรพิจารณาเลือกซื้อที่มีมาตรฐานความปลอดภัย  สามารถเลือกปรับอุณหภูมิได้ตามความเหมาะสม เพื่อรักษาคุณค่าของนมแม่ไว้ให้ครบถ้วน

ข้อควรระวัง

  • คุณแม่ควรทดสอบอุณหภูมิของน้ำนม ด้วยการหยดใส่หลังมือ โดยต้องไม่รู้สึกร้อนหรือเย็นเกินไป  เพราะนมที่ร้อนเกินไปอันตรายต่อทางเดินอาหารของลูก ตั้งแต่อาการพุพอง จนอาจกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกในกระเพาะอาหาร  และยังทำลายเซล์เม็ดเลือดขาวในนมแม่  ส่วนนมที่เย็นเกินไป จะทำให้ลูกทารกมีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำได้ด้วย
  • คุณแม่ควรดมกลิ่นนมสต็อกหลังจากละลายน้ำแข็ง หรืออุ่นนมแม่แล้วทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่านมมีลักษณะเสียหรือไม่ ซึ่งนมที่เสียจะมีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นรุนแรงมาก
  • นมแม่ที่อุ่นจนละลายแล้ว ไม่สามารถเก็บได้นานเกิน 2-3 ชั่วโมง ในอุณหภูมิห้อง  ดังนั้นจึงควรให้ลูกกินนมจนหมด หรือเก็บต่อได้ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง แล้วต้องทิ้งไป
  • ไม่ควรนำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว กลับไปแช่แข็งใหม่
อุ่นนมแม่

เรื่องเข้าใจผิดของการ อุ่นนมแม่ ทำเสียคุณค่าน้ำนม 

  1. นำนมไปแช่ในน้ำร้อน หรือนำไปนึ่งได้ เพื่อให้ละลายเร็ว
    ความจริงคือ ไม่ควรนำนมแม่ไปละลายในน้ำร้อน เพราะความร้อนจะทำให้สารอาหารสำคัญในนมแม่ที่มีคุณค่าต่อลูกน้อยเสียไป
  2. ละลายนมแม่ หรืออุ่นให้ร้อนเร็วได้ด้วยไมโครเวฟ
    ความจริงคือ ห้ามนำนมไปอุ่นหรือทำให้ร้อนในไมโครเวฟ  เนื่องจากความร้อนจะไปทำลายสารภูมิคุ้มกัน และสารอาหารจำเป็นในนมแม่ ทำให้ลูกไม่ได้รับสารอาหารที่สำคัญครบถ้วน และน้ำนมอาจร้อนเกินไปจนลวกปากลูกได้ด้วย
  3. หากลูกนมแม่ที่อุ่นแล้วไม่หมด  ยังเก็บนมแม่นั้นให้ลูกกินมื้อถัดไปได้อีก
    ความจริงคือ ไม่ควรนำนมที่ออกมาอุ่นแล้ว หรือนมที่เหลือ มาให้ลูกกินในมื้อถัดไป  เพราะนมที่ละลายแล้วจะเก็บได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง  นมอาจจะเสียหรือบูด เสี่ยงทำให้ลูกน้อย ปวดท้อง ท้องเสียหรือเจ็บป่วยได้
  4. ลูกกินนมเย็นไม่ได้ เดี๋ยวปวดท้อง ท้องเสีย!
    ความจริงคือ  การกินนมแม่ที่ละลายแล้วแบบเย็น ไม่ทำให้ลูกปวดท้องหรือ ท้องเสีย และนมแม่ก็ยังมีคุณค่าสารอาหารที่จำเป็นต่อลูกน้อย  แต่หากลูกไม่ชอบกินนมเย็น คุณแม่ก็เพียงนำขวดนมแม่มาแช่ในน้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้องรอให้หายเย็นลงเท่านั้น
  5. นมแม่ที่ละลายแล้วมีกลิ่นหืน คือเสีย! ให้ลูกกินไม่ได้
    ความจริงคือ  น้ำนมแม่ที่แช่แข็งไว้ เมื่อละลายหรืออุ่นแล้วอาจมีกลิ่นหืนได้บ้าง  แต่ไม่ได้เสีย  ลูกน้อยสามารถกินได้ เพราะยังคงมีคุณค่าสารอาหาร และไม่มีอันตราย  ยกเว้นกรณีนมแม่มีกลิ่นรุนแรงมาก และมีรสเปรี้ยว  แสดงว่านมนั้นเสียแล้วไม่ควรให้ลูกกิน

ข้อมูลเพิ่มเติม :
https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/HpH/admin/news_files/718_49_1.pdf, FB: สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ,
https://www.phyathai.com/
https://library.thaibf.com/ (คลังข้อมูล มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code