ทำไม? ลูกไม่กินนมสต๊อก และวิธีฝึกลูกน้อยกินได้สำเร็จ

ลูกไม่กินนมสต๊อก

เพราะลูกน้อยคือที่สุดของความรักจากใจแม่ไม่มีอะไรเทียบได้ คุณแม่ทุกท่านจึงต้องเลือกและหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกน้อยเสมอ และ “น้ำนมแม่” คือหนึ่งในอาหารที่มีคุณค่ามากที่สุด และดีที่สุดต่อลูกน้อย เป็นอาหารที่ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน  ด้วยเพราะน้ำนมนั้นกลั่นมาจากอกจากธรรมชาติในร่างกายแม่ที่มุ่งมั่นตั้งใจจะให้ลูกน้อยได้รับคุณค่าสารอาหารเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการอย่างครบถ้วน

ซึ่งการให้นมแม่ได้ยาวนานที่สุด และเต็มที่ที่สุดแก่ลูกน้อย  นอกจากจะส่งผลดีเยี่ยมต่อพัฒนาการในทุกด้าน สร้างเสริมภูมิต้านทานทำให้ลูกกินนมแม่ไม่ป่วยง่าย ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากมาย รวมถึงการให้นมแม่ยังดีต่อสุขภาพแม่ในแง่มุมต่างๆ ทั้งการช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว มีส่วนช่วยคุมกำเนิดได้ในช่วงหนึ่ง  พร้อมกับทำให้สุขภาพและรูปร่างของคุณแม่กลับคืนมาหุ่นดีได้เร็วและง่ายขึ้นด้วย

ดังนั้นเพื่อให้ลูกน้อยได้รับพลังคุณค่าสารอาหารจากน้ำนมนมแม่ให้ยาวนานเต็มที่ คุณแม่ทุกท่านจึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสต๊อกน้ำนมสะสมไว้ให้ลูกมากๆ  และหลายๆ ท่านก็เป็นคุณแม่นักปั๊มได้สำเร็จ มีน้ำนมแม่ให้ลูกเต็มที่ เต็มตู้แช่  แต่ทว่าปัญหาที่คุณแม่กลับต้องพบเจอ คือ ลูกไม่กินนมสต๊อก ที่ทำไว้  จึงมีคำถามมากมายว่าทำไม? ลูกจึงไม่ยอมกิน เพราะเป็นนมแม่เหมือนกัน

เราจึงชวนมาดูสาเหตุที่ลูกน้อยไม่ยอมกินนมสต๊อก พร้อมกับวิธีการฝึกลูกน้อยกินนมแม่จากสต๊อกว่าต้องทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จ ให้ลูกน้อยกินนมได้แม่ยาวนาน ได้รับที่สุดของโภชนาการนมแม่นี้อย่างเต็มที่ไปจนโตค่ะ

ลูกไม่กินนมสต๊อก

สาเหตุที่ ลูกไม่กินนมสต๊อก

  • ลูกติดกินนมแม่จากเต้า ด้วยเพราะความอบอุ่นจากเต้า การได้อิงแอบแนบชิดกับคุณแม่ตลอดเวลา ทำให้ลูกน้อยมีความสุข มีความมั่นคงปลอดภัย  ดังนั้นเมื่อคุณแม่นำนมแม่สต๊อกใส่ขวดมาให้ลูก ลูกจึงไม่ยอมกิน รวมถึงอาจไม่รู้ว่าการดูดนมจากขวดจะช่วยทำให้อิ่มได้เพราะไม่เคยกินมาก่อน
  • ลูกติดกินนมแม่อุ่นๆ เพราะน้ำนมแม่จากเต้ามีอุณหภูมิอุ่นพอเหมาะพอดี ซึ่งการกินนมสต๊อก บางครั้งคุณแม่อาจละลายน้ำนมหรืออุ่นนมแม่ได้ไม่ดี ไม่พอเหมาะแบบที่ลูกเคยกิน จึงทำให้ลูกปฏิเสธน้ำนมสต๊อกนั่นเอง
  • ลูกติดวิธีการดูดนมแม่จากเต้า ไม่คุ้นเคยกับการดูดนมจากขวด ทำให้สับสนระหว่างการดูดนมจากเต้า กับดูดนมสต๊อกจากขวดนม  เนื่องจากวิธีการดูดนมจากทั้งสองแบบไม่เหมือนกัน โดยการดูดนมแม่จากเต้าลูกน้อยจะต้องอมหัวนมและลานนมให้มิด ลึกและกว้างเพียงพอ และใช้ลิ้น ร่วมกับขากรรไกรช่วยในการดูดนมแม่ทั้งหมด แต่การดูดนมจากขวด จะใช้เพียงปากและลิ้นช่วยในการดูดเท่านั้น ไม่ต้องอ้าปากกว้างเพื่อดูดนมให้น้ำนมไหลออกมาเหมือนดูดจากเต้าแม่
  • นมสต๊อกมีกลิ่นแรง รสชาติเปลี่ยนไป ทำให้ลูกน้อยที่ติดรสชาติน้ำนมสดๆ จากเต้าคุณแม่ ไม่ยอมกินนมสต๊อก แม้คุณแม่จะนำนมสต๊อกนั้นมาละลายให้หายเย็นหรืออุ่นแล้วก็ตาม เนื่องจากมีกลิ่นเหม็นหืนบ้าง และรสชาติ หรืออุณหภูมิน้ำนมก็เปลี่ยนไป ลูกจึงไม่ยอมกิน
ลูกไม่กินนมสต๊อก

วิธีฝึกลูกน้อยกินนมสต๊อก

เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาลูกน้อยไม่กินนมสต๊อก คุณแม่จะต้องเตรียมตัวหรือฝึกลูกน้อยให้กินนมแม่สต๊อกจากขวดล่วงหน้า และแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

  1. เริ่มฝึกให้ลูกกินนมสต๊อกให้เร็ว ก่อนคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน  โดยคุณแม่ควรฝึกให้ลูกกินนมสต๊อกได้หลังคลอดประมาณ 1 เดือน หรือก่อนกลับไปทำงานประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งน่าจะเป็นเวลาใกล้เคียงที่คุณแม่จะเริ่มปั๊มนมทำสต๊อกหลังจากที่ช่วงแรกต้องให้ลูกน้อยวัยทารกกินนมจากเต้าเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้คุ้นเคยและกินต่อเนื่อง  รวมถึงหากป้อนนมขวดให้ลูกเร็วเกินไป อาจทำให้ลูกติดใจการดูดนมขวดที่ดูดง่ายและไหลคล่องกว่าได้  ด้วยวิธีการคือ- ฝึกให้ลูกกินนมสต๊อกจากขวดวันละครั้ง โดยใช้จุกนมไซส์เล็กสุด เพื่อไม่ให้น้ำนมไหลเร็วเกินไปจนลูกสำลัก และหากใช้จุกนมที่ไซส์ใหญ่เกินไป จะทำให้ลูกติดการกินนมที่ไหลเร็วไหลง่าย จนทำให้ลูกไม่ยอมกลับมากินนมจากเต้าคุณแม่ได้อีก

    – อาจเลือกใช้จุกนมที่คล้ายนมแม่ที่มีฐานกว้างใหญ่และมีความนุ่ม  เพื่อเลียนแบบการดูดนมให้ใกล้เคียงกับการดูดนมจากเต้า ป้องกันลูกน้อยสับสนและสร้างความคุ้นเคย  นอกจากนี้จุกนมที่คล้ายนมแม่หรือเสมือนนมแม่ มักจะออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยดูดลมเข้าไปในท้อง จนเกิดแก๊สในท้อง  จึงมีส่วนช่วยทำให้ลูกสบายท้อง ป้องกันอาการปวดท้อง แน่นท้องได้

  2. ผสมนมแม่ที่ปั๊มสดจากเต้า กับน้ำนมสต๊อกที่ละลายแล้ว  หมายถึงให้คุณแม่ผสมนมแม่ที่ปั๊มสดจากเต้า กับน้ำนมสต๊อกที่นำมาทำละลายแล้ว ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทีละนิดทีละหน่อยทุกๆ 3 วัน เช่น- 1-3 วันแรก หากลูกดื่มนมครั้งละ 4 ออนซ์ ให้ใช้นมแม่ปั๊มสด 3 ออนซ์ ผสมนมสต๊อก 1 ออนซ์

    – วันที่ 4-6  ให้ผสมนมแม่ปั๊มสดเพิ่มเป็น 2 ออนซ์ ผสมนมสต๊อก 2 ออนซ์(สัดส่วนเท่ากับ 50:50) แล้วพอวันที่ 7-9 ให้เพิ่มนมสต๊อกขึ้นเรื่อยๆ เป็น 3 ออนซ์ ผสมนมแม่ปั๊มสด 1 ออนซ์ จนวันที่ 10 เป็นต้นไป คุณแม่ก็สามารถให้ลูกกินนมสต๊อกได้ทั้งขวด  หรือตามปริมาณที่ลูกดื่ม

  3. ละลายหรืออุ่นนมสต๊อก ไม่ให้มีความเย็น นั่นคือการนำนมสต๊อกที่แช่แข็งมาทำให้ละลายและมีเนื้อน้ำนมที่เข้ากันดี  ป้องกันปัญหาลูกไม่กินเพราะนมเย็นหรืออุณหภูมิผิดไป  ลูกติดกินนมอุ่นๆ หรือนมจากเต้าคุณแม่ด้วยวิธีการอุ่นนมต่างๆ  เช่น นำนมแม่จากช่องฟรีซมาทิ้งไว้ในช่องล่างของตู้เย็นธรรมดาให้นมละลายก่อน 1 วัน แล้ว ทำให้หายเย็น ด้วยการแช่ในน้ำอุ่น  แต่วิธีการนี้อาจทำให้คุณแม่ลืมทิ้งไว้ หรือน้ำที่แช่ร้อนเกินไปจนทำนมแม่เสียคุณค่าอาหาร

    ดังนั้นจึงแนะนำวิธีการใช้เครื่องอุ่นนม เพื่อความรวดเร็วและสะดวก ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายหลาย ราคาย่อมเยาและมีการทำงานหลายฟังก์ชั่น ทั้งอุ่นนม อุ่นอาหารและละลายน้ำแข็งได้  เนื่องจากจะช่วยให้คุณแม่สามารถนำนมสต๊อกแช่งแข็งมาอุ่นในเครื่องอุ่นนมได้ทันที  สามารถตั้งอุณหภูมิได้ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้น้ำนมร้อนหรือเย็นเกินไป  ถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้ลูกน้อยกินนมแม่จากสต๊อกได้ง่ายขึ้น

  4. หากลูกอายุเกิน 12 เดือน อาจเติมรสชาติเพิ่มเติม ในนมสต๊อกได้ เพราะด้วยวัยที่โตขึ้นลูกจะรับรู้และคุ้นเคยกับรสชาติต่างๆ  จนทำให้ติดรสชาติและกินนมแม่จากสต๊อกที่มีกลิ่นและรสที่แตกต่างได้ยากมากขึ้น   คุณแม่จึงอาจเติมรสชาติที่ลูกชอบลงไปในนมแม่สต๊อกนิดหน่อย เพื่อเปลี่ยนกลิ่นหืนและรสในนมแม่สต๊อก  เช่น การเติมน้ำผลไม้ อาทิ น้ำส้มคั้น น้ำแอปเปิ้ล หรือน้ำหวาน  แต่ต้องระวังไม่ใส่เยอะหรือหวานมากเกินไป  เพราะลูกจะอ้วนและฟันผุได้ หรืออาจนำนมแม่สต๊อกนั้นไปเป็นอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ทำไอศกรีม กินนมผสมผลไม้ ทำนมปั่นสมูทตี้ เพราะลูกวัย 1 ปีสามารถกินอาหารได้หลากหลายมากขึ้น
  5. ไม่ให้ลูกกินนมอื่นๆ ควบคู่กับนมแม่ที่ทำสต๊อกไว้  เพราะหากลูกได้เคยกินรสชาติหรือกลิ่นจากนมผสมหรือนมอื่นๆ จะยิ่งทำให้ลูกกินนมสต๊อกได้ยากขึ้น หรือไม่ยอมกินเลย  แต่หากลูกไม่เคยลิ้มรสชาติของนมอื่นเลย เมื่อถึงวันที่ต้องกินนมสต๊อก ก็จะยอมกินนมได้หมดหรือกินนมแม่จากสต๊อกได้มากขึ้น

เมื่อคุณแม่รู้สาเหตุของการปฏิเสธนมสต๊อกของลูกแล้ว ก็สามารถแก้ไขและฝึกลูกได้ โดยขอเพียงหมั่นฝึกฝนตามวิธีการต่างๆ ที่แนะนำ พร้อมกับใช้ตัวช่วยต่างๆ เช่น เครื่องอุ่นนม จุกนมที่ดี  ร่วมกับการละลายนมสต๊อกที่ถูกต้อง และเทคนิคอื่นๆ โดยที่ไม่ให้ลูกกินนมอื่นๆ เด็ดขาด ก็มั่นใจได้ว่าลูกน้อยจะยอมกินนมแม่ที่สต๊อกไว้ได้ต่อเนื่อง  เติบโตแข็งแรงด้วยพลังคุณค่าจากน้ำนมแม่ยาวนานแน่นอนค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code