เมื่อเป็นแม่ พาหะธาลัสซีเมียก็ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด

ก่อนหน้านี้ก็เคยคิดว่าเรื่องพาหะธาลัสซีเมียนี่เป็นอะไรที่ไกลตัวมากๆ แต่พอตั้งท้องเท่านั้นแหละ การเป็นพาหะฯ นี่เรื่องใกล้ตัวสุดๆ แถมทำให้กังวลมากมายเลยล่ะค่ะ ถ้าคุณแม่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็แสดงว่าคุณแม่อาจจะกำลังกังวลเรื่องนี้อยู่เหมือนกันใช่มั้ย สำหรับใครที่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าพาหะธาลัสซีเมียคืออะไร วันนี้เราก็นำความรู้มาฝากกันค่ะ

เคยได้ยินผ่านๆ แต่ไม่เคยรู้เลยว่าพาหะธาลัสซีเมียคืออะไร?

อันที่จริง การเป็นพาหะธาลัสซีเมียไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทยเลยนะ เพราะมีคนไทยตั้งกว่า 24 ล้านคนที่เป็นพาหะโรคนี้ เผลอๆ เวลาเดินตามถนนเราอาจจะเจอคนที่เป็นพาหะอยู่เต็มไปหมด แถมเรายังอาจจะเป็นด้วยก็ได้นะ

คนที่เป็นพาหะของโรคนี้ง่ายๆ ก็คือ คนที่มีเชื้อธาลัสซีเมีย “แฝง” อยู่ในร่างกาย เพราะงั้นคนที่เป็นพาหะจะมีสุขภาพที่แข็งแรงปกติเหมือนคนทั่วไปนี่แหละ ไม่ได้ออกอาการอะไร แต่อาจจะเลือดจางนิดหน่อย โรคธาลัสซีเมียนี้เป็นโรคที่ติดต่อได้ทางพันธุกรรม เพราะงั้น หากทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะทั้งคู่ ลูกที่คลอดออกมาก็สามารถเป็นโรคธาลัสซีเมียได้ถึง 25% เลยนะ พูดง่ายๆ คือ พาหะก็เหมือนมีโรคอยู่ครึ่งนึง แม่มีครึ่ง พ่อมีครึ่ง พอมารวมกัน ลูกก็มีโอกาสที่จะได้รับโรคนี้ไปเต็มๆ เลยนั่นเอง แต่คุณแม่ก็อย่าเพิ่งกังวลเกินไปนะคะ เพราะหากคุณหมอตรวจพบว่าทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะแล้ว ขั้นต่อไปคุณหมอจะดูว่าเป็นธาลัสซีเมียชนิดไหน เพราะถ้าเป็นคนละชนิดกัน ก็หายห่วง!

พาหะธาลัสซีเมียมีกี่ชนิด แล้วต่างกันยังไง?

พาหะธาลัสซีเมียมี 2 ชนิด ก็คือ อัลฟ่ากับเบตา อัลฟ่านี่จะค่อนข้างรุนแรง แต่มากน้อยก็แล้วแต่ยีนส์ที่แฝงอยู่นั่นแหละ ส่วนถ้าเป็นกลุ่มเบตาก็จะไม่ค่อยรุนแรงเท่าไหร่ อาการก็จะเป็นพวกตัวเหลืองซีดอะไรแบบนี้

ทีนี้ ประเด็นมันอยู่ที่ตรงชนิดของพาหะ ปกติแล้วถ้าแค่คุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนนึงเป็นพาหะ ก็จะไม่ถือว่าเป็นคู่เสี่ยง เพราะยังไงลูกก็ไม่มีสิทธิเป็นโรคนี้ อย่างมากก็เป็นแค่พาหะ แต่ถ้าพ่อแม่เป็นพาหะทั้งคู่ เราก็ต้องมาลุ้นกันแล้วล่ะว่าเราเป็น “คู่เสี่ยง” รึเปล่า มันน่ากลัวตรงนี้ค่ะ เพราะคู่เสี่ยงก็คือคู่ที่เสียงจะมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียเมื่อคลอดออกมานั่นเอง

คู่เสี่ยงมีอะไรบ้าง?

ทั้งพ่อและแม่เป็นชนิดอัลฟ่าทั้งคู่

ทั้งพ่อและแม่เป็นชนิดเบตาทั้งคู่

พ่อกับแม่ คนนึงเป็นชนิดเบตา อีกคนเป็นเฮโมโกบินอี*

พ่อกับแม่ คนนึงเป็นชนิดอัลฟ่า อีกคนเป็นเฮโมโกบินอี

เราจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นพาหะมั้ย?

ก่อนหน้าจะเป็นคุณแม่ หลายๆ คนก็คงจะไม่ได้สนใจว่าเราเป็นพาหะรึเปล่า เพราะมันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อชีวิตประจำวันเราอ่ะเนอะ แต่พอตั้งท้อง เรื่องนี้สำคัญมากๆ เลย ตอนเราไปฝากท้องแรกๆ คุณหมอจะให้เราเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรคแฝงต่างๆ ตอนนี้แหละ เราจะได้รู้กันว่าเราเป็นพาหะรึเปล่า ซึ่งถ้าตรวจพบว่าเราเป็นปุ๊ป คุณพยาบาลก็จะรีบโทรตามให้คุณพ่อมาตรวจต่อทันทีเลย

ผลของการเป็นคู่เสี่ยงค่อนข้างน่ากลัว เพราะลูกที่กำลังจะเกิดก็จะเสี่ยงเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงไปด้วย บางคนคลอดออกมาตัวซีดมากเพราะเลือดจาง หลายๆ คนเสียชีวิตในท้องหรือทันทีหลังคลอด ส่วนทารกที่โตขึ้นมาได้ก็จะต้องให้เลือดทดแทนไปตลอดชีวิตเลย เพราะโรคนี้รักษายังไงก็ไม่หาย ส่วนใหญ่แล้วถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นคู่เสี่ยงและถ้าคุณหมอตรวจพบอาการผิดปกติของลูกในท้อง คุณหมอก็จะเสนอให้ยุติการตั้งครรภ์ เพราะถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วล่ะค่ะ

ทางที่ดีก่อนจะวางแผนมีลูกมาเป็นโซ่ทองคล้องใจ เราขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ไปตรวจเลือดกันก่อนดีกว่า อย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าเราควรวางแผนอย่างไร เพราะเอาจริงๆ แล้ว คู่เสี่ยงหลายๆ คู่ก็สามารถมีลูกด้วยกันได้นะ เพียงแต่คุณแม่ต้องบำรุงหนักหน่อยเพื่อให้ลูกน้อยคลอดออกมาเป็นเด็กที่แข็งแรงและพร้อมที่จะเผชิญกับโลกกว้างใหญ่ใบนี้ได้อย่างเต็มที่ค่า

*ฮีโมโกลบินที่ผิดปกติชนิดหนึ่งในโปรตีนสายเบตา


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code