เช็ก 4 อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์ แบบไหนอันตราย หรือใกล้คลอด

หากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ นอกจากจะรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายมากมาย จนตัวเองเปลี่ยนไปเป็นคุณแม่ท้องโตใหญ่อุ้ยอ้ายแล้ว ยังมีอาการต่างๆ ที่ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวอื่นๆ อีก ซึ่งคุณแม่หลายท่านอาจจะคิดว่าอาการไม่สบาย ปวดโน่นนี่นั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

                แต่ทว่า…อาการปวดในบางอย่างนั้น อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกถึงภาวะเสี่ยงและโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะอาการปวดท้องผิดปกติ เราจึงชวนคุณแม่มาเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์ที่ชวนน่าสงสัย เพื่อให้คุณแม่รู้ว่าอาการแบบไหนที่ผิดปกติ จะได้สังเกตและรู้ทันอันตราย รีบไปพบแพทย์ก่อนอาการจะรุนแรงลุกลามบานปลายจนเกิดการสูญเสียขึ้นได้ค่ะ

สังเกตอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์   มาดูกันว่าอาการปวดท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ เกิดจากอะไรกันบ้าง

1) ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียดกลางอก

                อาจเป็นอาการของ กรดไหลย้อน หรือกระเพาะอาหารอักเสบ มีสาเหตุเกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารมาก อาหารไม่ย่อย ทำให้มีอาการแน่นท้อง  หรือมีกรดไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร โดยมีอาการร่วมต่างๆ เช่น แสบร้อนกลางอก ลิ้นปี่ ลำคอ มีอาการคลื่นไส้ เรอ แน่นหน้าอก  ที่มักเกิดขึ้นหลังจากทานอาหาร หรือในช่วงเวลากลางคืน

                สาเหตุของอาการจุกเสียดแน่นท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ เกิดได้ทั้งจากการกินอาหารมากเกินไป กินอาหารรสจัด รสเปรี้ยว รสเผ็ด  กินผลไม้ที่มีกรด เช่น มะนาว กินอาหารที่ไขมันสูงทำให้ย่อยยาก   สาเหตุจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้กล้ามเนื้อที่อยู่ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเกิดการคลายตัว รวมถึงลูกในท้องที่ใหญ่ขึ้นไปดันท้องคุณแม่ทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้น

                 ป้องกันดูแลได้ : ด้วยการกินอาหารทีละน้อยๆ แต่บ่อยมื้อ เลี่ยงอาหารรสเผ็ด ปรี้ยว ของทอดที่มีมันมาก  ไม่นอนทันทีหลังอาหาร โดยอาจนั่งตรงๆ หรือเดิน เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน  งดดื่มน้ำตามหลังอาหารมากๆ แต่ควรไปดื่มน้ำให้มาระหว่างมื้ออาหารแทน ตลอดจนเวลานอนอาจใช้วิธีนั่งกึ่งนอน ให้หมอนสูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อป้องกันกรดไหลย้อนขึ้น

                ไปพบแพทย์ : โดยปกติอาการแน่นท้อง จุกเสียด สามารถหายได้ไม่รุนแรง ไม่ใช่สิ่งผิดปกติและไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลมากนัก   แต่หากคุณแม่มีอาการจุกแน่นและเจ็บหน้าอกมาก เป็นนานไม่หาย ร่วมกับอาการปวดหัว รู้สึกหายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษได้

2) ปวดท้อง เจ็บท้องเตือน

                อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสที่สอง แต่จะพบได้มากกว่าในช่วงก่อนคลอดประมาณ 1 เดือน   อาการปวดท้องเจ็บท้องเตือน คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องแข็ง ท้องตึง มีอาการปวดทั่วบริเวณท้องน้อยนานๆ ครั้ง ไม่สม่ำเสมอ ปวดสักพักก็หายไป ไม่มีอาการปวดรุนแรง

                สาหตุของอาการเจ็บท้องเตือน เนื่องจากในช่วงใกล้คลอดมดลูกของคุณแม่จะขยายตัวเต็มที่และเคลื่อนตัวลงต่ำ จึงรู้สึกได้ว่ามดลูกแข็งตัว จนรู้สึกว่าท้องแข็งบ่อยครั้งขึ้น  รวมถึงมดลูกของคุณแม่อาจจะเริ่มมีการหดเกร็งและบีบตัว เพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าใกล้จะถึงเวลาคลอดแล้ว  นอกจากนี้อาการบีบตัวหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ยังสัมพันธ์กับการทำงานหรือการใช้ชีวิตของคุณแม่ เช่น คุณแม่มักจะเป็นในช่วงที่เดินนาน ๆ หรือยืนนานๆ ได้

                ป้องกันดูแลได้ :  คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในอิริยาบถใดนานๆ เพราะเวลาเปลี่ยนท่าทาง อาจทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวได้  ซึ่งหากคุณแม่มีอาการปวดท้องท้องแข็ง ควรหาที่นั่งหรือนอนพักสักครู่ เพื่อให้อาการดีขึ้น 

                ไปพบแพทย์ : หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการท้องแข็ง เจ็บท้องโดยไม่แน่ใจว่าเป็นอาการเจ็บท้องเตือนหรือไม่  หรือหากรู้สึกว่าเป็นบ่อย มีอาการท้องแข็งถี่ หรือมีอาการปวดท้องมากขึ้น ปวดถี่ มีน้ำเดินหรือมีมูกเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการเจ็บท้องใกล้คลอดจริงได้

 ปวดท้องแบบนี้เมื่อไร รีบไปหาหมอทันที! 

3) ปวดท้องน้อย  เจ็บแปลบ มีไข้ ปวดข้างใดข้างหนึ่ง อาเจียน มีเลือดออก

                ปวดในช่วงตั้งครรภ์ 5 เดือนแรก     

                หากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก มีอาการปวดเกร็งช่องท้องและมีเลือดออกทางช่องคลอด ให้ระวังสัญญาณของการแท้ง  ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

                เมื่อคุณแม่มีอาการปวดท้องน้อย โดยรู้สึกปวดด้านใดด้านหนึ่ง มากขึ้นเรื่อยๆ ปวดตลอด และมีอาการไข้ร่วมด้วย ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์  เพราะอาจจะเป็นได้ทั้งการมีก้อนซีสต์ที่รังไข่แล้วเกิดลักษณะบิดขั้ว อาการของไส้ติ่งอักเสบ รวมทั้งการปวดท้องเนื่องจาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก

                ซึ่งการตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดขึ้นจากความผิดปกติที่ไข่ไม่สามารถเข้าไปฝังตัวบริเวณผนังมดลูกได้เหมือนปกติ ทำให้ตัวอ่อนเข้าไปเกาะและฝังตัวอยู่บริเวณท่อนำไข่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ตัวอ่อนจึงไม่สามารถเจริญเติบโตต่อได้  ทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องด้านซ้ายหรือด้านขวา ปวดด้านนั้นมากผิดปกติและมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย

                ปวดในช่วงตั้งครรภ์ 6-8 เดือน

                อาการปวดท้องที่ชวนคุณแม่ตั้งครรภ์สังเกตในช่วงสัปดาห์ที่ 21-36 สัปดาห์ คือ อาการปวดท้องหรือเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด  โดยมีอาการปวดท้องที่บริเวณหัวหน่าวหรืออุ้งเชิงกราน แต่หากคุณแม่มดลูกต่ำก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำคร่ำแตกได้ง่าย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง และคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน

                รวมถึงหากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 อยู่ แต่มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทางช่องคลอด และอาจมีอาการปวดท้องน้อย ปวดท้องเจ็บแปลบ ท้องแข็ง หรือมีเลือดแต่ไม่มีอาการปวดก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นมีอาการภาวะรกเกาะต่ำซึ่งเป็นอันตรายได้

                ปวดท้องจากการติดเชื้อ

                คุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากโรคภัยและการติดเชื้อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหาร หรืออาหารเป็นพิษ เนื่องจากทานอาหารที่มีเชื้อโรคเข้าไป รวมทั้งไส้ติ่งอักเสบ ทำให้มีอาการปวดท้องมาก มีการอาเจียน ท้องเสีย   นอกจากนี้หากคุณแม่ปวดท้องน้อยเวลาปัสสาวะ ปวดบ่อยๆ ปวดมาก ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงกระเพาะปัสสาวะ ท่อไต กรวยไตอักเสบ ได้อีกด้วย

                ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ปวดท้องมากหรือปวดผิดปกติ ควรรีบไปแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร จะได้รักษาตามสาเหตุได้อย่างถูกต้องและไม่ส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อย

4) ปวดท้อง เจ็บท้องคลอดจริง ปวดถี่ ปวดสม่ำเสมอ

                หากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องจริง หรืออาการปวดท้องพร้อมคลอด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที  เพราะนั่นคือสัญญาณที่บอกว่าลูกน้อยกำลังจะออกมาลืมตาดูโลก โดยอาการเจ็บท้องคลอดคือ 

  • เริ่มตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์(หากมีอาการเร็วกว่านี้ อาจหมายถึงการคลอดก่อนกำหนด
  • คุณแม่จะรู้สึกปวดท้อง ท้องแข็งจากการที่มดลูกบีบและแข็งตัว มีอาการปวดเป็นระยะสม่ำเสมอ และมีอาการปวดถี่มากขึ้น ปวดเจ็บท้องมากหรือรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • มีอาการปวดร้าวที่หลัง ลามมายังบริเวณท้อง และหัวหน่าว หรืออาจมีอาการปวดท้องคล้ายปวดถ่ายอุจจาระ
  • อาจมีมูกเลือดสีแดงสด และมีน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกได้ด้วย  

                หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะร่างกายคุณแม่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการคลอดลูกน้อยแล้ว โดยปากมดลูกของคุณแม่ก็มักจะเริ่มเปิดเพื่อรองรับการคลอดด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code