ภาวะครรภ์เสี่ยง ภาวะที่คุณแม่ไม่อยากเจอ

ไม่ว่าแม่ท้องท่านไหนก็ไม่มีใครอยากจะอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยงกันทั้งนั้นแหละใช่มั้ยคะ คุณแม่บางท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องภาวะครรภ์เสี่ยงมาบ้างแต่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการแบบไหนกันแน่ วันนี้เราจะนำเรื่องเกี่ยวกับภาวะครรภ์เสี่ยงมาฝากคุณแม่กันค่ะ

ภาวะครรภ์เสี่ยงก็คือการตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อตัวคุณแม่เองและลูกในท้อง ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้ลูกเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่คลอด ในขณะคลอด หรือหลังคลอดได้ค่ะ ภาวะครรภ์เสี่ยงมักจะเกิดกับคุณแม่ที่เคยแท้งมาก่อน หรือเคยคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ หรือตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี หรือมากกว่า 40 ปี นอกจากนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากเนื้องอกในมดลูก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงที่คุณแม่ท้อง การท้องลูกแฝดหรือแม้แต่การที่ลูกในท้องอยู่ในท่าที่ไม่ปกติ

มีข้อไหนที่ตรงกับคุณแม่บ้างมั้ยคะ ถ้ามีคุณแม่รีบปรึกษาคุณหมอแล้วก็เข้ารับการตรวจตามกำหนดและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดนะคะ เพราะคุณแม่ที่มีภาวะเสี่ยงจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แล้วก็คุณแม่จะต้องได้รับการตรวจประเมินอย่างน้อยหนึ่งอย่างโดยคุณหมอตามด้านล่างนี้ด้วยค่ะ

การตรวจประเมินภาวะครรภ์เสี่ยงโดยคุณหมอ

  1. อัลตราซาวด์ (Ultrasound)

การตรวจแบบอัลตราซาวด์ก็คือการตรวจโดยใช้คลื่นความถี่สูงเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นตอนตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของรกหรือของลูกน้อยในท้องค่ะ นอกจากนี้ การตรวจอัลตราซาวด์ยังสามารถบอกปริมาณน้ำคร่ำ รูปร่างของมดลูกและอัตราการเต้นของหัวใจทารกได้ด้วยนะ

  1. การตรวจกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ กลุ่มอาการดาวน์ก็คือดาวน์ซินโดรมที่เราเรียกกันโดยทั่วไปนี่แหละค่ะ สำหรับการตรวจหากลุ่มดาวน์นี้จะสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
  • Combined Test หรือการตรวจครั้งเดียวในช่วงสามเดือนแรก คุณแม่จะตรวจด้วยวิธีนี้ได้เมื่อมีอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ คุณหมอจะทำการตรวจผ่านการอัลตราซาวด์โดยวัดความหนาของต้นคอร่วมกับการตรวจเลือดค่ะ แต่การตรวจแบบนี้จะสามารถคัดกรองได้เพียงแค่ 85% เท่านั้นนะคะ แล้วก็จะมีผลบวกลวงอยู่ที่ 5% ค่ะ
  • Quadruple Test หรือการตรวจครั้งเดียวในช่วงเดือนที่ 4-6 ค่ะ คุณแม่ที่มาฝากครรภ์หลังไตรมาสแรกก็จะได้รับการตรวจเลือดในช่วงไตรมาสที่ 2 ค่ะ โดยการคัดกรองนี้จะอยู่ที่ 85% และมีผลบวกลวงที่ 5% เช่นเดียวกับการตรวจวิธีแรกค่ะ
  • นิฟตี้เทสต์ (NIFTY Test) คุณแม่ที่อยากทราบผลแน่ชัดขอแนะนำวิธีนี้เลยค่ะ เพราะเป็นวิธีที่ใช้เทคโนโลยีใหม่โดยจะตรวจดีเอ็นเอของทารกผ่านทางเลือดของคุณแม่ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถตรวจคัดกรองได้ถึง 99% และมีผลบวกลวงน้อยกว่า 1% ค่ะ คุณแม่สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปนะคะ แต่ค่าตรวจก็จะแพงหน่อย เพราะว่าผลค่อนข้างแม่นยำค่ะ
  1. การเจาะน้ำคร่ำ

การตรวจโดยเจาะน้ำคร่ำนี้จะทำเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ระหว่าง 18-20 สัปดาห์ค่ะ เอาตรงๆ การเจาะน้ำคร่ำนี่เจ็บมาก แต่ก็ต้องทนอ่ะเนอะเพื่อความปลอดภัยของลูกเรา คุณหมอจะเจาะน้ำคร่ำเพื่อนำเซลล์ของลูกมาใช้ตรวจวิเคราะห์หาโรคและความผิดปกติต่างๆ เช่นพวกโรคธาลัสซีเมีย โครโมโซมผิดปกติ หรือโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ค่ะ

  1. การตรวจอื่นๆ ตามความเห็นของแพทย์

ยกตัวอย่างเช่น การเจาะเลือดจากสายสะดือ การตรวจการทำงานของหัวใจทารกในครรภ์ (Non-Stress Test: NST) เป็นต้น

การรักษาข้างต้นนี้นอกจากจะทำให้คุณแม่ทราบได้ทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติแล้ว ยังช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้านล่างนี้ด้วยนะคะ

ภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดกับคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยง

  1. เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

เนื่องจากฮอร์โมนจากรกจะต้านการทำงานของอินซูลิน จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้ พอร่างกายคุณแม่มีน้ำตาลสูงก็จะส่งผลต่อลูกน้อยในท้องค่ะ โดยลูกที่คลอดออกมาอาจจะตัวใหญ่กว่าปกติและคลอดก่อนกำหนด หรืออาจจะตัวเล็กกว่าปกติและเสียชีวิตในครรภ์ได้ การเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นี้ไม่จำเป็นว่าคุณแม่ต้องมีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อนนะคะ ใครๆ ก็เป็นได้ค่ะ

  1. ภาวะรกเกาะต่ำ

ภาวะรกเกาะต่ำนี้มักจะเกิดกับคุณแม่ที่เคยขูดมดลูกหรือผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกมาก่อน โดยในภาวะนี้ รกจะเกาะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น บางส่วนของรกจะไปปิดบริเวณปากมดลูกทำให้มีเลือดออกและเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดค่ะ

  1. ครรภ์ไข่ปลาอุก

หากเกิดการปฏิสนธิโดยที่ไข่ของฝ่ายหญิงไม่มีโครโมโซมแล้วมันจะเหมือนมีไข่ปลาอยู่ในถุงน้ำแทนการเกิดตัวอ่อนค่ะ โดยภาวะนี้จะทำให้เกิดเลือดออกทางช่องท้อง ซึ่งถ้ามีเลือดออกจำนวนมากจะทำให้ช็อกหมดสติ คุณหมอจะทำการรักษาอาการประเภทนี้ด้วยการยุติการตั้งครรภ์ค่ะ

  1. ภาวะแท้งคุกคาม

ภาวะนี้จะเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมหรือฮอร์โมน โดยจะเกิดกับคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว และทารกที่มีความพิการอยู่ก่อนแล้ว สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกและทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้ค่ะ ภาวะแท้งคุกคามนี้อาจจะทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต หรือถ้าหากมีชีวิตอยู่รอดจนคลอด ก็ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ

  1. ภาวะน้ำคร่ำน้อย

โดยปกติแล้วในช่วงตั้งครรภ์ประมาณ 32-36 สัปดาห์นั้นปริมาณน้ำคร่ำจะไม่น้อยกว่า 500 cc. ค่ะ แต่คุณแม่ที่มีภาวะน้ำคร่ำน้อย ปริมาณน้ำคร่ำจะอยู่ที่ 100-300 cc. เท่านั้น ซึ่งกว่าจะคลอด น้ำคร่ำก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จนทำให้โพรงมดลูกแคบกว่าปกติ เมื่อโพรงมดลูกแคบแล้วก็จะทำให้การเจริญเติบโตของทารกไม่เต็มที่ อาจทำให้เกิดรูปร่างผิดปกติ ปอดแฟบ อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ในบางรายจึงต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วนค่ะ

  1. ภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะนี้จะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดค่ะ ในบางรายอาจอันตรายถึงชีวิตเพราะทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก โดยภาวะนี้คุณแม่จะมีอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ ขาและเท้า ร่วมกับอาการปวดศีรษะและตาพร่ามัวค่ะ สาเหตุของภาวะนี้คือเกิดจากระดับความดันโลหิตสูงและมีโปรตีนไข่ขาวออมาทางปัสสาวะค่ะ

ภาวะครรภ์เสี่ยงเป็นอะไรที่ฟังดูน่ากลัวก็จริง แต่คุณแม่ก็สามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่งนะคะ นั่นก็คือคุณแม่จะต้องมาฝากครรภ์ให้ตรงตามกำหนด ทานยาบำรุงให้ครบ งดดื่มแอลกอฮอล์และงดใช้สารเสพติดต่างๆ นอกจากนี้คุณแม่ควรจะต้องควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้น้อยเกินไปหรือมากเกินไปด้วยน้า


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code