ไม่อยากครรภ์เป็นพิษ สังเกตอย่างไร ป้องกันได้ไหมนะ?

“ครรภ์เป็นพิษ” หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนอันตรายถึงชีวิตของคุณแม่ตั้งครรภ์ ถือเป็นภาวะไม่พึงประสงค์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นตัวคุณแม่เอง ครอบครัว รวมถึงคุณหมอสูติแพทย์ เนื่องจากหากคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะครรภ์เป็นพิษ จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ค่อนข้างมาก โดยสถิติพบว่า10-15% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ และมีร้อยละ  2-8% ของสตรีตั้งครรภ์มีภาวะครรภ์เป็นพิษ (ข้อมูลจากรพ.บำรุงราษฎร์)

ฉะนั้นเพื่อไม่ให้คุณแม่ต้องมาเจอกับภาวะร้ายแรงนี้ ลองมาดูสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้ และเรียนรู้กันว่าจะทำอย่างไรเพื่อป้องกัน หรือตรวจเช็กเพื่อรักษาได้ทันท่วงที ให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยปลอดภัยสุขภาพดีได้จนหลังคลอด

ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายในแม่ท้อง

  • สาเหตุของครรภ์เป็นพิษ : สาเหตุนั้นยังไม่แน่ชัด สันนิษฐานได้หลายสาเหตุ อาทิ เกิดจากความผิดปกติในช่วงระหว่างการฝังตัวของเซลล์ของรก ทำให้การไหลเวียนเลือดระหว่างรกและมดลูกผิดปกติ เซลล์รกมีภาวะขาดออกซิเจน จึงมีการหลั่งสารที่เป็นพิษเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ ทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ  รวมถึงสาเหตุที่เกิดจากภาวะการขาดออกซิเจนของเด็กในครรภ์ จึงสร้างสารหรือฮอร์โมนไปกระตุ้นให้แม่มีความดันโลหิตสูง จนเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

โดยภาวะครรภ์เป็นพิษที่มักพบส่วนใหญ่ มักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์หลัง 20 สัปดาห์จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด แต่พบบ่อยคือหลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์

  • ตรวจเช็กความเสี่ยงของแม่ท้อง!! ชวนคุณแม่มาลองเช็กดูสิว่า มีความเสี่ยงเหล่านี้หรือไม่? เพื่อจะได้ปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้ล่วงหน้า
    • คุณแม่เป็นความดันโลหิตสูง
    • คุณแม่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษในครรภ์ครั้งก่อน
    • คุณแม่มีโรคประจำตัว เบาหวาน โรคไต ภาวะเลือดจับตัวเป็นก้อน
    • คุณแม่เคยมีพี่น้องหรือญาติใกล้ชิด เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ เช่น พี่สาว น้องสาว แม่ ป้า น้า ยาย ย่า
    • คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
    • คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด
    • คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งแรก
    • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน

แม่ท้อง รู้ก่อนรักษาได้ 

ชวนคุณแม่มาสังเกตอาการและสัญญาณต่างๆ ที่บอกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • สังเกตสัญญาณอันตราย บอกอาการครรภ์เป็นพิษ

อาการหลักๆ ที่สำคัญแสดงถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ การที่คุณแม่มี “ความดันโลหิตสูง” 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป  ร่วมกับตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง  และคุณแม่มีอาการ “บวม” ผิดปกติที่คุณหมอตรวจแล้วว่าไม่ได้บวมเพราะเป็นโรคไตหรืออื่นๆ  รวมถึงมีอาการบวมที่มือ เท้าและใบหน้า ปวดศีรษะมาก  ตาพร่ามัว อาเจียน คลื่นไส้ ปวดจุกเสียดใต้ลิ้นปี่  ซึ่งหากรู้สึกมีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย ก็ต้องรีบไปพบแพทย์

เนื่องจากแม่ท้องส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะครรภ์เป็นพิษ คิดว่าเป็นอาการปกติของคนท้อง จึงทำให้มีอาการรุนแรงลุกลามจนเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ซึ่งหากรักษาไม่ทันท่วงทีจะทำให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เสียชีวิตได้ เช่น คุณแม่มีอาการชัก รกมีการลอก เกิดการคลอดก่อนกำหนด  ลูกน้อยไม่เติบโต อวัยวะของคุณแม่เช่น หัวใจ ปอด ตับเสียหาย มีการทำงานของไตผิดปกติหรือไตวาย  ภาวะเลือดออกในสมอง และน้ำท่วมปอด เป็นต้น

ครรภ์เป็นพิษป้องกันได้ไหม? แม่ไม่อยากเป็น

หากคุณแม่พิจารณา เช็กดูความเสี่ยงเบื้องต้นและพบว่าครอบครัวหรือตัวเองมีประวัติความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ  เช่น อายุมากกว่า 35 ปี  มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน มีพันธุกรรมจากคนในครอบครัวที่เคยเป็น  ควรรีบแจ้งข้อมูลและปรึกษาสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อประเมินหรือรับบริการตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ ที่ปัจจุบันเริ่มมีใช้ในโรงพยาบาลชั้นนำแล้ว ได้แก่ การเจาะเลือดตรวจ PIGF และ sFlt-1

  • การเจาะเลือดตรวจ PIGF และ sFlt-1

เป็นการตรวจวินิจฉัย โดยการเจาะเลือดคุณแม่หาสารบ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยเป็นการตรวจวัดระดับโปรตีนสำคัญ 2 กลุ่มร่วมกับการตรวจวัดการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดที่เลี้ยงมดลูก เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้แพทย์รู้ว่าคุณแม่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่ ให้คุณหมอสามารถติดตามอาการและวางแผนการดูแลคุณแม่ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างใกล้ชิด ป้องกันอันตราย เฝ้าระวัง ลดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่จะเกิดกับคุณแม่และลูกน้อยได้เต็มที่ รวมถึงรักษาภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ  ให้ลูกน้อยได้เกิดมาแข็งแรงสมบูรณ์ปลอดภัย คุณแม่ก็ปลอดภัยพร้อมมีสุขภาพดีได้พร้อมกัน

doctor communicates with pregnant woman – indoors
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการให้ยาแอสไพริน และการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์

นอกจากการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษด้วยวิธี PIGF และ sFlt-1 ที่จะช่วยป้องกันหรือดูแลไม่ให้เกิดครรภ์เป็นพิษร้ายแรงได้แล้ว ปัจจุบันสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชั้นนำค้นพบวิธีการป้องกันครรภ์เป็นพิษ ด้วยการให้ยาแอสไพริน  โดยแพทย์จะให้ใช้เฉพาะคุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ และต้องได้รับการดูแลและสั่งโดยแพทย์เท่านั้น  ซึ่งการตรวจคัดกรองและการให้ยาเพื่อป้องกันครรภ์เป็นพิษ จะต้องทำตั้งแต่ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 12 – 16 สัปดาห์  จึงจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ผล แต่ผลการดูแลป้องกันก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพและภาวะครรภ์เป็นพิษของคุณแม่แต่ละท่านด้วย

และสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ ในแง่ที่จะสามารถช่วยหลีกเลี่ยงภาวะอันตรายต่างๆ ไม่ให้มีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษเป็นในช่วงตั้งครรภ์ได้ นั่นคือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้หลากหลายครบถ้วน 5 หมู่ ดื่มน้ำให้มาก รักษาน้ำหนักให้ขึ้นอย่างเหมาะสม ไม่กินอาหารเค็มจัดหวานจัด ป้องกันเบาหวาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code