เข้าไตรมาส 2 แล้ว มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างนะ?

ท้องมาสามเดือนแต่ยังไม่เห็นรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ท้องก็ยังไม่ใหญ่ ลูกก็ยังไม่ดิ้น แถมขึ้นบีทีเอสก็ยังไม่มีคนลุกให้นั่งอีกต่างหาก ถ้าคุณแม่กำลังคิดแบบนี้อยู่ ก็ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่เดือนที่สี่ ห้าและหกให้ดีๆ เลยจ้า บอกก่อนเลยว่าช่วงไตรมาสนี้ นอกจากอารมณ์คุณแม่ๆ จะแปรปรวนเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงแล้ว เจ้าร่างกายก็น้อยหน้าซะที่ไหน เผลอๆ แปรปรวนหนักกว่าอารมณ์ซะอีก เราลองไปดูกันดีกว่า ว่าช่วงนี้คุณแม่จะต้องเจอกับอะไรบ้าง

  1. ไม่ค่อยแพ้ท้องแล้ว

อันนี้เป็นเรื่องดี ขอปรบมือรัวๆ จากที่แพ้ท้องเช้า กลางวัน เย็น กินอะไรก็อาเจียน ได้กลิ่นอะไรก็ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำ ขอบอกว่าพอเข้าช่วงไตรมาสสองอาการพวกนี้จะดีขึ้นเยอะ! คุณแม่บางคนอาจจะเหลือแค่แพ้ท้องเช้านิดหน่อย เย็นนิดหน่อย แต่บางคนก็หายเป็นปลิดทิ้งเลยค่ะ เหมือนร่างกายเริ่มปรับตัวได้แล้วอ่ะเนอะ ช่วงนี้ก็จะดีหน่อย คุณแม่จะทานอะไรได้เยอะขึ้น เผลอๆ เยอะกว่าเดิม อัดอั้นตันใจที่ทานอะไรไม่ได้เลยในช่วงแรกๆ แต่จริงๆ แล้วก็มีคุณแม่บางคนที่ยังแพ้ท้องอยู่ เราก็ขอแนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำอุ่นๆ ทานอาหารเบาๆ แต่ก็ไม่ใช่ขนมขบเคี้ยวนะ ขอแนะนำเป็นพวกอาหารเบาๆ ที่มีประโยชน์จะดีกว่า

  1. ตัวเริ่มหนัก พุงเริ่มออก

ใครที่กำลังบ่นว่าท้องยังไม่เห็นใหญ่เลย ตอนนี้แหละค่ะของจริง! เจ้าจิ๋วในท้องของเราเริ่มโตขึ้นละ คนรอบข้างก็เริ่มสังเกตได้แล้วล่ะว่าคุณแม่กำลังท้องอยู่ คุณแม่บางคนอาจจะชะล่าใจคิดว่าไหนๆ คนท้องก็ต้องอ้วนอยู่แล้วกินๆ เข้าไปเถอะ แต่ขอบอกตรงนี้เลยว่าอย่าเพิ่งกินเพลินจนลืมไปนะคะว่าคนท้องเสี่ยงเป็นเบาหวานช่วงตั้งครรภ์ได้ ยิ่งถ้าคุณแม่ติดทานอะไรหวานๆ จนน้ำหนักขึ้นพรวดพราดนะ โดนคุณหมอจับตรวจเบาหวานแน่นอน

  1. ท้องแตกลาย หัวนมดำ

พอพุงเริ่มออก ก็ไม่แปลกที่หน้าท้องจะเริ่มแตก ยิ่งคุณแม่ที่ท้องใหญ่ๆ หน้าท้องก็จะแตกลายเยอะหน่อย แต่จะไปซีเรียสกันทำไม สมัยนี้นวัตกรรมล้ำเลิศ มีครีมทาแก้ท้องแตกลายออกวางขายตามท้องตลาดทั่วไป หรือไม่ก็ใช้ครีมทาผิวปกติ แต่ขอเป็นสูตรอ่อนโยน ทาเบาๆ บริเวณที่แตกลายให้รู้สึกชุ่มชื้นก็พอแล้วล่ะค่ะ มันอาจจะไม่ได้ทาปุ๊ปหายปั๊ป แต่ก็ช่วยได้เยอะเลยล่ะ ส่วนเรื่องหัวนมดำนี่ยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่พอคลอด พอ

ลูกได้ดูดนมไปสักพัก หัวนมคุณแม่ก็จะกลับมาเป็นสีชมพูเหมือนเดิม ช่วงก่อนคลอดนี่ร่างกายก็จะเตรียมพร้อมเพื่อลูกน้อย ท่อน้ำนมขยาย ลานนมกว้างขึ้น บางทีอาจจะเห็นน้ำใสๆ ไหลออกมาจากเต้า แต่อย่าได้ไปบีบหัวนมเลยเชียว เพราะอาจจะทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้

  1. เป็นตะคริวยามหลับ

เป็นตะคริวยามหลับนี่ไม่ใช่เรื่องตลกเพราะมันทรมานสุดๆ ไปเลย สาเหตุหลักๆ ก็มาจากการที่ร่างกายเราต้องแบกรับท้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น แถมมดลูกยังอาจไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ทำให้เกิดอาการเกร็งแบบเฉียบพลันอีก ฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปช่วงตั้งท้องนี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดตะคริวด้วยก็ได้นะคะ สาเหตุอีกอย่างก็คือการที่โดนเจ้าตัวเล็กแย่งสารอาหารผ่านสายสะดือ คุณแม่ก็เลยขาดสารอาหารบางตัว อย่างพวกแคลเซียม แมกนีเซียม แล้วก็วิตามินต่างๆ จนทำให้เป็นตะคริว แต่ความทรมานไม่ได้อยู่ที่แค่การเป็นตะคริวอย่างเดียวนี่สิ การสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะตะคริวนี่น่ากลัวสุด เพราะกว่าจะข่มตาหลับได้มันช่างนานแสนนาน เหมือนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่เลยล่ะ

  1. ริดสีดวงมาเยือนถึงที่

เมื่อมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นก็อาจจะไปกดทับเส้นเลือดดำที่ค่อนไปทางด้านขวาของร่างกาย เหมือนเวลาเราเหยียบสายยางรดน้ำ คุณแม่จะเห็นว่าน้ำจะไหลเอื่อยมากกก อันนี้ก็เช่นเดียวกันค่ะ พอมดลูกไปกดทับเส้นเลือดปุ๊ป การไหลเวียนของเลือดก็จะทำงานได้ไม่ปกติ เส้นเลือดดำที่อยู่บริเวณทวารหนักของคุณแม่ก็จะปูดโปนออกมา เหมือนเลือดมันคั่งอยู่ ไหลเวียนได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดเป็นริดสีดวงได้ พอคุณแม่ทำธุระถ่ายหนัก เส้นเลือดดำที่ปูดออกก็อาจไปสีกับอุจาระทำให้เลือดไหล แต่ก็ไม่ต้องกังวลกันไปไกลหรอกนะ วิธีการแก้ก็คือ คุณแม่อาจจะต้องรับประทานผักเพื่อเพิ่มกากใย ดื่มน้ำเยอะๆ จะได้ขับถ่ายได้สะดวก อย่าให้ท้องผูกเป็นอันขาด แต่ถ้าทิ้งไว้หลายวันไม่ทุเลาลงก็ลองไปพบคุณหมอดูจะดีกว่า

  1. รู้สึกได้ถึงลูกดิ้น

ข้อนี้คือฟินาเล่ของไตรมาสนี้เลยค่ะ เพราะจะเป็นไตรมาสแรกที่คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกน้อยของเราเต้นดุ๊กดิ๊กอยู่ภายในท้อง แต่อย่างที่เคยมาเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้ว่าคุณแม่แต่ละคนก็จะรู้สึกถึงลูกดิ้นเร็วช้าแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผนังหน้าท้องว่าหนาหรือบาง แต่ก็จะรู้สึกภายในไตรมาสนี้แน่นอนแหละ ถ้าท้ายๆ ไตรมาสแล้วยังไม่รู้สึก คุณแม่ลองปรึกษาคุณหมอดูน้า อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาดเลยนะคะ

ในช่วงไตรมาสนี้ก็ไม่มีอะไรมาก แค่ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นเลยอาจจะทำให้เคลื่อนไหวช้าลงนิดหน่อย ช่วงนี้ร่างกายของคุณแม่จะต้องการพลังงานแค่ประมาณ 2,200 กิโลแคลอรีเท่านั้น คุณแม่บางคนอาจจะคิดว่าทานสำหรับสองคน ต้องเอาแคลมาบวกกันรึเปล่า…ไม่ต้องนะ เดี๋ยวน้ำหนักคุณแม่จะพุ่งทะลุเป้าเกินไปซะก่อน เราขอเน้นให้คุณแม่เลือกทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เช่นพวกผักใบเขียว ปลาที่มีโอเมกา 3 โปรตีนจากไก่ อะไรพวกนี้ดีกว่า ส่วนพวกอาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายก็ควรจะงดไปก่อนเนอะ เพราะไขมันเยอะมากกกก แถมของทอดๆ ยังอาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้อีกต่างหาก สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าลืมทานยาบำรุงที่คุณหมอให้มา โดยเฉพาะแคลเซียม เพราะลูกจะแย่งแคลเซียมจากเราไปเยอะมากๆ เพราะงั้นควรจะทานเสริมเข้าไปให้ได้อย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมต่อวันนะคะ


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code