คุณแม่พร้อมรับมือ หากตรวจพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เพราะความเป็นแม่มันอยู่ในสายเลือด เมื่อรู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ในท้องอีกหนึ่งชีวิต เราก็ต้องดูแลครรภ์นี้ให้ดีที่สุด เพราะผู้หญิงทุกคนก็อยากตั้งครรภ์ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าเมื่อระหว่างทาง จู่ๆ คุณหมอก็ตรวจพบว่า ครรภ์นี้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ขึ้นมา แล้วงานนี้ว่าที่คุณแม่มือใหม่อย่างเราๆ จะมีวิธีรับมืออย่างไร ควรจะควบคุมอาหารยังไง งานนี้เรามีคำตอบ
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์คือ ความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจพบขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่รกผลิตออกมามีผลต่อประสิทธิภาพของอินซูลิน (ฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) ของแม่ โดยปกติตับอ่อนจะผลิตอินซูลินออกมาแต่ในกรณีนี้ตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลเลยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะการตั้งครรภ์ แต่โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ บางคนอาจพบภาวะนี้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ส่วนใหญ่คุณหมอ จะตรวจพบภาวะดังกล่าวได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แต่คุณแม่ตั้งครรภ์บางราย อาจมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปากแห้ง และรู้สึกเหนื่อยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งบางอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาการของคนตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอหากมีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับอาการที่เผชิญอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
หากคุณแม่ตั้งครรภ์พบว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์แล้ว จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อสุขภาพที่ดีต่อตนเองและลูกในครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกด้วย

แนวทางในการรักษาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คุณหมออาจให้เราตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด 4-5 ครั้ง/วัน ในช่วงเวลาก่อนรับประทานอาหารเช้าและหลังมื้ออาหารทุกมื้อ เพื่อตรวจดูว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ โดยเจาะเลือดที่ปลายนิ้วแล้วหยดเลือดลงบนแถบทดสอบ จากนั้นอ่านค่าด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาล ซึ่งจะแสดงระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วยการบริโภคผัก ผลไม้ และธัญพืช เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากเป็นอาหารที่มีสารอาหารและเส้นใยสูง แต่มีน้ำตาลน้อยและมีแคลอรี่ต่ำ นอกจากนี้ ควรจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารจำพวกแป้ง และหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะอาจทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยอาจปรึกษาคุณหมอหรือนักโภชนาการเพื่อวางแผนและกำหนดเมนูอาหารในแต่ละมื้อของวัน

3. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพราะเป็นการกระตุ้นน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้เคลื่อนเข้าสู่เซลล์เพื่อผลิตเป็นพลังงาน และยังช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่ถูกวิธีอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการตั้งครรภ์ได้ เช่น อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ตัวบวม ท้องผูก และนอนไม่หลับ เป็นต้น แต่คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมหลังจากได้รับอนุญาตจากคุณหมอก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
4. ใช้ยารักษา หากระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงอยู่หลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายมาระยะหนึ่งแล้ว คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่ใช้ยาฉีดอินซูลิน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
5. รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอ คุณหมออาจตรวจสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์มากเป็นพิเศษด้วยการอัลตราซาวด์ และอาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ว่ามีการเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่ กรณีที่เกิดภาวะคลอดช้ากว่ากำหนด คุณหมออาจวางแผนให้คุณแม่เจ็บครรภ์คลอดเร็วขึ้น เนื่องจากการคลอดช้ากว่ากำหนดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่และลูกน้อยได้

ดังนั้น คุณแม่ควรระมัดระวังก่อนจะทานอะไร ควรดูส่วนผสมของน้ำตาล และจำไว้ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพของลูกที่กำลังจะเกิดออกมา เพราะการกลับมาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพในภายหลังนั้นยากกว่า โดยเฉพาะภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อลูกน้อยโดยตรง อดทนอีกนิดแค่ 9 เดือนเท่านั้น คุณแม่ก็จะได้เห็นหน้าลูกน้อยแล้ว และสำคัญที่สุดคุณแม่ต้องไปพบคุณหมอทุกครั้งตามนัด เพราะคุณหมอจะประเมินความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และจะให้คำแนะนำที่ดีที่สุดนะคะ


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

code